กรมศุลกากรร่วมมือธนาคารพาณิชย์พัฒนาระบบการคืนอากร

ข่าวทั่วไป Friday September 29, 2000 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ธนาคารกรุงไทย
กรมศุลกากรร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ดำเนินการโครงการขยายและพัฒนาระบบการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ โดยวิธีวางประกันลอย คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ประมาณต้นปี 2544
สืบเนื่องจากสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเมื่อปี 2540 กรมศุลกากรกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการค้ำประกันแบบใหม่ เรียกว่า "วิธีวางประกันลอย" โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาระบบภายในของธนาคารและกรมศุลกากรให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ON-LINE เพื่อเป็นโครงการนำร่องเมื่อเดือนธันวาคม 2540 เน้นการลดขั้นตอน การเปิดบริการแบบ ONE STEP SERVICE เร่งรัดการคืนอากรเพื่อลดต้นทุนสินค้า ก่อให้เกิดสภาพคล่อง พร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก ทั้งยังเป็นมาตรการส่งเสริมธุรกิจส่งออกของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวะในเวลาขณะนั้น ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงได้มีโครงการขยายและพัฒนาระบบการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ โดยวิธีวางประกันลอย และได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งในการร่วมลงทุนบริจาคเงินรายละ 1 ล้านบาทถ้วน เพื่อจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ รวมโปรแกรมการทำงานที่ต้องใช้ในโครงการฯ ได้แก่
1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
5) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
6) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
7) ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน)
8) ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน)
9) ธนาคารซิตี้แบงก์ จำกัด
10) ธนาคารซากุระ จำกัด
11) ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ จำกัด
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งในการออกแบบและพัฒนาระบบโดยบริษัทกรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัดซึ่งกรมศุลกากรจะได้ดำเนินการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบให้บรรลุเป้าหมายของโครงการฯ ทั้งนี้ คาดว่าระบบจะสามารถเปิดบริการได้ประมาณต้นปี 2544
การวางค้ำประกันแบบประกันลอยตัวโดยผ่านทางธนาคาร จะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขอคืนอากรจากกรมศุลกากร สามารถคืนอากรได้ทันทีทุกครั้งที่ส่งสินค้าออก ไม่ต้องรอให้ออกครบจำนวนของวัตถุดิบที่นำเข้ามา โดยที่การพิจารณาคืนอากรจะกระทำได้ในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 5 นาที นับแต่การยื่นคำร้อง ทำให้ไม่เกิดปัญหาการคืนอากรล่าช้า ช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ และยังเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการค้ำประกันวัตถุดิบที่นำเข้า โดยไม่ต้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกันค่าภาษีอากรต่อกรมศุลกากรทุกครั้งที่นำมา กรมศุลกากรจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบดังกล่าวรองรับการวางค้ำประกันสินค้าทุกประเภทแทนการใช้หนังสือธนาคารค้ำประกันให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่งในอนาคต--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ