กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับครูต้นแบบ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,113 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องครูต้นแบบ ว่าในปัจจุบันสังคมมองครูว่าเป็นอย่างไร ควรมีการปรับปรุงเรื่องใด อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี ยังได้รับการยอมรับของชุมชนและสังคมหรือไม่ เพื่อนำไปปรับปรุงในการพัฒนาครูในอนาคตและการผลิตครูในอนาคต ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อครูต้นแบบ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าครูในปัจจุบันมีความรู้ในเรื่องที่สอน อยู่ในระดับดี ร้อยละ 61.5 มีเทคนิคการสอน อยู่ในระดับดี ร้อยละ 57.6 และมีความรู้ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ในระดับดี ร้อยละ 56.8
ยังคิดว่าครูในปัจจุบันมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับดี ร้อยละ 49.6 มีความสามารถในการถ่ายทอดด้านศีลธรรม อยู่ในระดับดี ร้อยละ 50.8 และมีความสามารถในการถ่ายทอดด้านความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง อยู่ในระดับดี ร้อยละ 52.5
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าครูในปัจจุบันควรปรับปรุงในด้านความรู้ในด้านภาษาอังกฤษมากที่สุด ร้อยละ 18.4 อันดับที่สองคือความรู้ในเรื่องที่สอน ร้อยละ 17.7 อันดับที่สามคือถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจง่าย ร้อยละ 16.1 อันดับที่สี่คือเทคนิคการสอนดี ร้อยละ 9.4 อันดับที่ห้าคือความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ร้อยละ 9.2
ในส่วนของครู 1 คนต่อนักเรียนกี่คนในห้องเรียนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่านักเรียนจำนวน 30 คนต่อครู 1 คน มากที่สุด ร้อยละ 33.0 อันดับที่สองคือนักเรียนจำนวน 40 คนต่อครู 1 คน ร้อยละ 22.8 อันดับที่สามคือนักเรียนจำนวน 20 คนต่อครู 1 คน ร้อยละ 19.0
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้เยาวชนสนใจในการศึกษาต่อในด้านครู ร้อยละ 70.3 ในส่วนของมุมมองที่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการผลิตครู กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการร้อยละ 82.2
และคิดว่าครูต้นแบบควรมีทักษะที่สำคัญมากที่สุดคือความรู้ในเรื่องที่สอน ร้อยละ 20.4 อันดับที่สองคือถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจง่าย ร้อยละ 19.1 อันดับที่สามคือความรู้ในด้านภาษาอังกฤษ ร้อยละ 13.8 อันดับที่สี่คือเทคนิคการสอนดี ร้อยละ 12.7 อันดับที่ห้าคือทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ ร้อยละ 6.3