กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นำศาสตร์พระราชาสร้างความยั่งยืนด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงานให้กับผู้ใช้แรงงาน ตั้งเป้าลดปัญหาการบาดเจ็บและประสบอันตรายจากการทำงานไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ในปีนี้
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชดำริพระราชดำรัสและพระราชจริยวัตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานหรือทรงงาน ถือเป็นศาตร์พระราชาที่สามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคลไปถึงการบริหารราชการเพื่อสร้างและพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสฯ ที่ได้พระราชทานเนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ ความว่า "...ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็ไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง จึงใคร่ขอร้องให้ทุก ๆ คน ตั้งใจและพยายามปฎิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริง ๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติเสื่อมถอยลงเพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย..."
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีภารกิจรับผิดชอบด้านความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของแรงงานทุกภาคส่วนรวมกว่า ๓๔ ล้านคน ซึ่งนับเป็นประชาชนกว่าครึ่งประเทศ จึงน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นหลักในการดำเนินงานคุ้มครอง ดูแลแรงงานทุกภาคส่วนให้ทำงานโดยปราศจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย เพื่อเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ จัดทำโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ทั้งนี้ได้บูรณาการความร่วมมือ ๖ กระทรวงได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อการบริหารจัดการและสร้างเสริมความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีกลยุทธ์เชิงป้องกันเพื่อมุ่งไปสู่โลกอนาคตแห่งความปลอดภัย ปราศจากการบาดเจ็บเสียชีวิต และโรคเนื่องจากการทำงาน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ กสร.ตั้งเป้าหมายลดอัตราการประสบจากการทำงานให้ได้ร้อยละ ๕ ของการเกิดอุบัติเหตุแลฃะบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากปีที่ผ่านมา
และเร่งสร้างการรับรู้และจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง นักเรียน และผู้เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานอย่างน้อย ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน