กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--มรภ.สงขลา
โปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ชวนแบ่งปันของเล่นให้น้อง สร้างห้องสมุดต้นแบบ ปลูกฝังให้เด็กมีจิตสาธารณะ รู้จักแบ่งปัน สร้างสรรค์พัฒนาการโดยใช้ของเล่นเป็นสื่อ นำร่อง รร.ชุมชนบ้านด่าน ต.เกาะแต้ว
ดร.มุจลินทร์ ผลกล้า อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้เสนอโครงการห้องสมุดของเล่นต้นแบบ สร้างสรรค์พลังพัฒนาการ เปิดเผยว่า ของเล่นเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเล่นของเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการ ทั้งยังเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะต่างๆ ในชีวิต ของเล่นที่เหมาะสมจะส่งเสริมความสามารถและทักษะทางการเคลื่อนไหวที่ดี ดังนั้น โปรแกรมวิชาภาษาไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจบริการวิชาการ จึงจัดกิจกรรมห้องสมุดของเล่นต้นแบบฯ ให้กับ รร.ชุมชนบ้านด่าน ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบของการพัฒนาแหล่งสารสนเทศท้องถิ่น ในมิติที่เกิดจากความร่วมมือของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกับ มรภ.สงขลา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาให้เกิดจิตสาธารณะ รวมทั้งผลิต บริการ และเผยแพร่สื่อของเล่นเพื่อการศึกษาที่หลากหลายรูปแบบแก่ท้องถิ่น
ดร.มุจลินทร์ กล่าวว่า แนวคิดการจัดหาของเล่นสำหรับส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เพื่อให้โรงเรียนมีความสามารถในการใช้และเข้าถึงสารสนเทศในลักษณะของเล่น เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน สร้างจิตสาธารณะระหว่างเด็กด้วยกัน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ ปลูกปัญญา สร้างสรรค์พัฒนาการของเด็กโดยใช้ของเล่นเป็นสื่อ อีกทั้งเป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษาในโปรแกรมฯ ช่วยให้เกิดทักษะ แนวคิด และแนวปฏิบัติเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงาน การสื่อสารและสร้างมนุษยสัมพันธ์ การพัฒนาบุคลิกภาพ ระบบบริหารคุณภาพในสถานประกอบการ ตลอดจนเทคนิคการนำเสนอการเขียนรายงานเพื่อการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยก่อนลงพื้นที่สร้างห้องสมุดต้นแบบนักศึกษาต้องฝึกอบรมเตรียมความพร้อม จากนั้นจึงสำรวจพื้นที่ วางแผนจัดมุมห้องสมุดของเล่น และจัดมุมห้องสมุดของเล่นในวันที่ 8 ก.พ.60
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า รร.ชุมชนบ้านด่าน ได้รับการสนับสนุนห้องและคุณครูเข้าร่วมอบรมบริหารจัดการห้องสมุดของเล่นกับทางโปรแกรมวิชาภาษาไทย จาก นายถาวร บรรจงรัตน์ ผอ.โรงเรียน ถือเป็นโรงเรียนแรกที่ได้สัมผัสกับห้องสมุดของเล่นต้นแบบ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน นอกจากนั้น ยังเป็นการสานสัมพันธภาพอันดีระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่มาร่วมช่วยเหลือ ในการเป็นต้นแบบห้องสมุดของเล่นให้กับโรงเรียนและหน่วยงานที่สนใจ ได้เกิดแนวคิดเพื่อพัฒนาพลังสร้างสรรค์พัฒนาการของเด็ก โดยขณะนี้มีอีก 3 โรงเรียนที่ยังรอของเล่นเพื่อนำไปสร้างห้องสมุดของเล่นให้น้องๆ คือ รร.วัดสามกอง รร.บ่ออิฐ และ รร.บ้านวัดอ่างทอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดูแลของ อบต เกาะแต้ว และ มรภ.สงขลา มีความประสงค์จะลงพื้นที่เพื่อบริการวิชาการ
"แนวทางการพัฒนาโครงการไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชนนั้น ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบห้องสมุดของเล่นในโรงเรียน ต้องบริหารจัดการกับของเล่นที่มีและเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาเสริมพัฒนาการของนักเรียนได้อย่างคุ้มค่า รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนจัดหางบประมาณจัดซื้อของเล่นเพิ่มเติม เพื่อขยายห้องสมุดของเล่นในพื้นที่โรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจ และ เสริมสร้างความเข้าใจร่วมผู้ปกครองว่านักเรียนต้องเล่นของเล่นอย่างถูกหลัก เพื่อเสริมพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ หากบุคคลทั้ง 3 กลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งได้ร่วมมือกัน จะสามารถทำให้ห้องสมุดของเล่นเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในท้องถิ่นนี้อย่างแน่นอน"ดร.มุจลินทร์ กล่าวและว่า
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคของเล่นใหม่ ของเล่นมือสอง หนังสือสำหรับเด็ก สำหรับจัดทำห้องสมุดของเล่นให้กับน้องๆ รร.ชุมชนบ้านด่าน ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป-31 ม.ค.60 โดยบริจาคได้ที่ โปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา หรือ โทร. 085-5951102 ดร.มุจลินทร์ ผลกล้า และ 085-0109391 อ.ปิยกุล บุญญาศรีรัตน์