กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 พร้อมจัดนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้านการบริหารจัดการน้ำ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 (The 2nd World Irrigation Forum : WIF2) และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 (The 67th International Executive Council Meeting : 67th IEC Meeting) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ว่า การจัดการประชุมชลประทานโลก และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมภายใต้หัวข้อ "การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร" (Water Management in a Changing World : Role of Irrigation for Sustainable Food Production) มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 40 ประเทศ จำนวนประมาณ 1,200 คน โดยมีวัตถุประสงค์ 3 หัวข้อ คือ 1) การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2) การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง และ 3) เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจน และความหิวโหยโดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังจัดให้การประชุมในครั้งนี้ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมและประชาชน ได้ถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และลงนามเพื่อแสดงความอาลัย อีกทั้งยังได้มีการจัดทำแบบจำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ มาแสดงในบริเวณงานอีกด้วย อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับการจัดนิทรรศการที่เป็นโซนเฉลิมพระเกียรติ จะนำเสนอผลงานด้านบริหารจัดการน้ำ ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณ มาจัดแสดงไว้ร่วมกับนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวม 13 เรื่อง ได้แก่ 1) นิทรรศการฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง 2) นิทรรศการป่าต้นน้ำ/ระบบป่าเปียก 3) นิทรรศการฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check dam 4) นิทรรศการหญ้าแฝก 5) อ่างเก็บน้ำ/เขื่อน 6) นิทรรศการฝายทดน้ำ/อาคารบังคับน้ำ/ประตูระบายน้ำ 7) นิทรรศการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) 8) นิทรรศการทฤษฎีใหม่ 9) นิทรรศการแก้มลิง 10) นิทรรศการระบบระบายน้ำ 11) นิทรรศการระบบป้องกันน้ำเค็ม 12) นิทรรศการเครื่องกลเติมอากาศ และ 13) นิทรรศการการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติ
ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน และประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบชลประทาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรของต่างประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยได้คัดเลือก Smart Farmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 8 คน เข้าร่วมประชุมและร่วมพบปะหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ กับ Smart Farmers จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก และเกาหลีใต้ รวม 16 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ ๆ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกตามนโยบายของรัฐบาล
"การจัดประชุมดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านวิชาการ โดยนักวิชาการไทยจะได้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการบูรณาการสหวิชาการที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการด้านการชลประทานและการระบายน้ำในเวทีนานาชาติ สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านชลประทานกับผู้เกี่ยวข้องจากทั่วโลก นำมาซึ่งแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลระหว่างน้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ ตลอดจนแสวงหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่ออุทกภัยและภัยแล้ง 2) ด้านภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดการประชุมระดับนานาชาติของภูมิภาค เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับภูมิภาคผ่านการประชุมระดับรัฐมนตรี และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) และประเทศพัฒนาแล้ว และ 3) ภาคประชาชนและสังคม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และผู้วางนโยบายผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของการประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น Public hearing, Side event เป็นต้น" นายสัญชัย กล่าว