กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ฝ่ายสื่อสารองค์กร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจและมายรัม เปิดผลสำรวจโครงการ "กรุงเทพธุรกิจ 100 CEOs Survey" พบซีอีโอมองกำลังซื้อและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมส่งผลต่อธุรกิจมากที่สุด คาดปีนี้มีรายได้-กำไร สูงกว่าปีก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 1,600จีดีพีโต 2.5-3%
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ บริษัทมายรัม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดทำโครงการ "กรุงเทพธุรกิจ 100 CEOs Survey" เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน การเติบโต และการบริหารจัดการ ซึ่งจากผลการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซีอีโอส่วนใหญ่คาดว่า ผลประกอบการในปี 2559 จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยซีอีโอ 62.96% คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนซีอีโอ 27.16% มองว่า รายได้จะเท่ากับปีก่อน และซีอีโอ 9.88% เห็นว่า รายได้จะลดลง ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิ ซีอีโอ 49.37% เห็นว่า ปี 2559 กำไรจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ 39.24% เห็นว่า กำไรสุทธิจะเท่าเดิม และซีอีโอ 11.39% คาดว่า กำไรน่าจะลดลง
ด้านคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2559 ผู้บริหารส่วนใหญ่ถึง 44.05% มองว่า อัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติมวลรวม หรือจีดีพี จะอยู่ที่ประมาณ 2.5-3% ขณะที่อีก 29.76% มองว่า จีดีพีจะขยายตัวมากกว่า 3% และมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 15.48% ที่ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ที่ประมาณ 2-2.5%
ขณะที่คาดการณ์ขยายตัวของตลาดทุน ซีอีโอ 46.91% เชื่อมั่นว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2559 จะอยู่ที่ระดับ 1,500-1,600 จุด ส่วนซีอีโออีก 25.93% คาดว่า ดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 1,400-1,500 จุด
สำหรับการลงทุนในปี 2559 นั้น ซีอีโอส่วนใหญ่ราว 57.69%ระบุว่า ยังคงลงทุนในระดับเดียวกับปี 2558 ขณะที่ซีอีโอ 32.05% มีการลงทุนที่สูงขึ้น และซีอีโอ 10.26% ระบุว่าได้ลดการลงทุนลง
ทั้งนี้ เหตุผลการขยายการลงทุนนั้น จะเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ คือ 44.44% มองว่าเป็นไปเพื่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน14.81% เล็งเห็นว่าธุรกิจกำลังขยายตัวเพราะอยู่ในอุตสาหกรรมดาวรุ่ง และอีก 11.11% ระบุว่า ต้องการขยายการลงทุน เพื่อรองรับการขยายตลาดไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ส่วนซีอีโอที่ระบุว่าในปีนี้จะชะลอการลงทุน 14.81% ให้เหตุผลว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น3.7 % เห็นว่า อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง และ 2.47% ชะลอลงทุนเพราะมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและแหล่งเงินทุน
สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ผู้บริหารส่วนใหญ่ราว 50% ระบุว่า ครึ่งปีแรกของปี 2559 ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผู้บริหารอีก 29.76% ระบุว่ารายได้คงเดิม และอีก 20.24% ประเมินว่ารายได้ลดลง
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2559 นั้น ซีอีโอมองว่า 4 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนต่อผลประกอบการของธุรกิจมากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ กำลังซื้อผู้บริโภค (79.52%) ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม (77.11%) เศรษฐกิจโลก (60.24%) และนโยบายรัฐบาล (57.83%)
ส่วนคาดการณ์ผลประกอบการครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2559 ซีอีโอส่วนใหญ่ระบุว่า รายได้จะเพิ่มขึ้น โดยซีอีโอ 62.65% คาดว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในขณะที่30.12% คาดว่ารายได้จะยังคงเดิม มีเพียง 7.23% ที่คาดว่ารายได้จะลดลง เช่นเดียวกับกำไรสุทธิซึ่งผู้บริหารจำนวน 56.79% คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นขณะที่33.33% ระบุว่าคงเดิม และ 9.88% คาดว่าลดลง
ทางด้านนางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด เครือข่ายดิจิทัลเอเยนซี่กลุ่ม WPP กล่าวถึงประเด็นการสำรวจความเห็นของซีอีโอต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ว่า ในช่วงต้นปียังมีธุรกิจบางส่วนไม่เน้นการนำดิจิทัลมาใช้งาน แต่จากการสำรวจในช่วงปลายปี พบว่ากลุ่มที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลในการทำงานนั้นมีค่าเท่ากับศูนย์ แสดงให้เห็นว่า การทำธุรกิจ การนำเสนอสินค้า ผลิตภัณฑ์ การสื่อสารและทุกๆ อย่างได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างจริงจัง และแบ่งกลุ่มตามศักยภาพการปรับตัวสู่ยุคธุรกิจดิจิทัล ดังนี้ คือ กลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุด 65.88% เป็นกลุ่มที่เข้าใจและเร่งการใช้งาน รองลงมา คือ 22.35% เป็นกลุ่มที่เริ่มเรียนรู้และยังศึกษาอยู่ ในขณะที่ 11.76% ของซีอีโอทั้งหมดเห็นว่าธุรกิจของตนก้าวสู่การเป็นผู้นำแล้ว
ด้านเทรนด์ของเทคโนโลยีดิจิทัลที่บรรดาซีอีโอเห็นว่า มีความสำคัญสูงในช่วงนี้ คือ โซเชียลมีเดียและแอพพลิเคชั่น โดยซีอีโอ39.29% เห็นว่า มีอิทธิพลกับการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซ หรือ ออมนิแชแนล ที่เป็นช่องทางจำหน่าย และระบบลูกค้าสัมพันธ์ CRM ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันจากตัวเลขที่ออกมาใกล้เคียงกันที่ 26.19% และ 22.62% ตามลำดับ ในขณะที่ 11.9% ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานภายในองค์กร เช่น ระบบควบคุมการผลิตทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต (IoT in the operational process)
"สิ่งที่ซีอีโอทั้งหลายควรคำนึงถึงนับจากนี้สู่การแข่งขันในปีหน้า คือ การพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการใช้ดิจิทัล ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่แตกต่างกัน โดย 48.24% ใช้ดิจิทัล3.0 (มีระบบการสื่อสารแบบคลาวด์คอมพิวติ้ง สามารถเชื่อมการทำงานต่างแพลตฟอร์ม เกิดบริการแอพพลิเคชั่น, Online Service, Omni Channel, Mobile), 28.24% ใช้ดิจิทัล2.0 (มีแพลตฟอร์มของการตลาดที่สื่อสารตรงกับผู้บริโภคในวงกว้าง อาทิ โซเชียลมีเดีย), 14.12% ใช้ดิจิทัล4.0 (เริ่มใช้กลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเพื่อธุรกิจ ให้การสื่อสารและการทำงานเกิดขึ้นเองอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยี Machine-2-Machine หรือ IoT) และ 9.41% ใช้ดิจิทัล1.0 (มีการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ทั่วไป) ทำให้ทราบว่าซีอีโอส่วนใหญ่จะเน้นการใช้งานดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการขายและการตลาดและสื่อสารข้ามแพลตฟอร์มรวมไปถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการขายมากกว่า" นางสาวอุไรพรกล่าว