กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--เบรน ยูไนเต็ด
ผู้เข้าร่วมประชุมฯ 1,200 คน จากกว่า 45 ประเทศทั่วโลกร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในงานประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 พร้อมจัดนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ 13 เรื่องราว เปิดศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากการพระราชดำริ แสดง "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ให้รัฐมนตรีและผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้าชม
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 (The 2nd World Irrigation Forum : WIF2) และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 (The 67th International Executive Council Meeting : 67th IEC Meeting) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน2559
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การจัดการประชุมชลประทานโลก และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ นอกจากจะดำเนินงานตามหัวข้อการประชุมที่กำหนดไว้ คือ "การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร" (Water Management in a Changing World : Role of Irrigation for Sustainable Food Production) แล้ว กระทรวงเกษตรฯยังจัดให้การประชุมในครั้งนี้ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช โดยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมและประชาชน ได้ถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และลงนามเพื่อแสดงความอาลัย
สำหรับการจัดนิทรรศการจะจัดไว้ในบริเวณ Zone 1 ซึ่งเป็นโซนเฉลิมพระเกียรติ โดยจะนำเสนอผลงานด้านบริหารจัดการน้ำ ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณ พร้อมทั้งนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่มีความตอนหนึ่งว่า "...เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งสัตว์ ทั้งพืชก็ต้องมีน้ำ ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสิ่งมีชีวิต... ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะได้ให้ทราบว่าทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือทำโครงการชลประทานแล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้ อื่น ๆ ก็จะไปได้..." มาจัดแสดงไว้ร่วมกับนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวม 13 เรื่องด้วยกันคือ
1.นิทรรศการฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง เป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพที่สามารถกำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จส่งผลให้พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยกว่า 173 ล้านไร่ ได้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกมาเป็นเวลากว่า 30 ปี
2.นิทรรศการป่าต้นน้ำ/ระบบป่าเปียก เป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาป่าไม้โดยใช้การชลประทานเข้ามาช่วยในการสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ เพื่อเป็นแนวป้องกันไฟไหม้ป่าในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นป่าธรรมชาติ
3.นิทรรศการฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check dam คือ สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางเดินของน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นพระอัจฉริยภาพในการอนุรักษ์ดินและน้ำของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
4.นิทรรศการหญ้าแฝก เป็นการแสดงพระอัจฉริยภาพในการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของดิน ทำให้แหล่งน้ำไม่ตื้นเขิน จะช่วยรักษาหน้าดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นอันจะเป็นการช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว
5.อ่างเก็บน้ำ/เขื่อน เป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเขื่อนดังพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จเปิดเขื่อนภูมิพลเมื่อปี 2504 ความตอนหนึ่งว่า "เขื่อนนี้จะมีความสำคัญในการเสริมสร้างความเจริญของประเทศและความผาสุกสมบูรณ์ของประชาชน เพราะเมื่อก่อสร้างเขื่อนนี้เสร็จแล้ว ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก ช่วยให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้มากขึ้น เขื่อนยังอำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทาน การคมนาคม และการบรรเทาอุทกภัย..." นอกจากนี้พระองค์ยังใช้อ่างเก็บน้ำสร้างปิดกั้นระหว่างหุบเขาหรือเนินสูง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จะเห็นได้จากโครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคอีกด้วย
6.นิทรรศการฝายทดน้ำ/อาคารบังคับน้ำ/ประตูระบายน้ำ เป็นการจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในการใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยในพื้นที่ทำกินที่อยู่ระดับสูงกว่าลำห้วย ทรงเลือกใช้วิธีการก่อสร้างฝายหรือเขื่อนทดน้ำปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงขึ้นจนสามารถผันเข้าไปตามคลอง หรือคูส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลข้ามสันฝายไปเอง
7.นิทรรศการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) เป็นรูปแบบการจัดการน้ำโดยใช้อ่างเก็บน้ำหลายอ่างเชื่อมเข้าหากัน โดยนำน้ำส่วนเกินจากอ่างหนึ่ง ผันไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง พระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการน้ำ
8.นิทรรศการทฤษฎีใหม่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการทำการเกษตรที่ยั่งยืนตามพระราชดำรัส "ทฤษฎีใหม่" คือ การดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม โดยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดิน มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายและมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี
9.นิทรรศการแก้มลิง เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้แก้มลิง ในการชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม และชะลออัตราการไหลของน้ำผิวดินที่เกิดจากการไหลที่เพิ่มขึ้น โดยการใช้พื้นที่ระบายน้ำก่อนปล่อยให้ไหลลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งจะนำตัวอย่างแก้มลิงที่ดำเนินการประสบสำเร็จมาแล้วจัดนิทรรศการ เช่น แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย จ.สมุทรสาคร แก้มลิงหนองใหญ่ จ.ชุมพร แก้มลิงหนองสมอใส เป็นต้น
10.นิทรรศการระบบระบายน้ำ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้วยการการก่อสร้างทางผันน้ำ หรือขุดคลองลัด เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยมีหลักการอยู่ว่า จะผันน้ำในส่วนที่ไหลล้นตลิ่งออกไปจากลำน้ำโดยตรง ปล่อยน้ำส่วนใหญ่ที่มีระดับไม่ล้นตลิ่งให้ไหลอยู่ลำน้ำเดิมตามปกติ เช่น การดำเนินโครงการคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
11.นิทรรศการระบบป้องกันน้ำเค็ม เป็นนิทรรศการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนา แหล่งน้ำ เพื่อการป้องกันน้ำเค็ม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ทำให้สามารถใช้น้ำจืดบริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำทำการเกษตรได้ เช่น การดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
12.นิทรรศการเครื่องกลเติมอากาศ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ โดยเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งมีใบพัดเคลื่อนน้ำและซองรับน้ำไปสาดกระจายเป็นฝอยเพื่อให้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึงเป็นผลให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงที่น้ำเสียถูกยกขึ้นมากระจายสัมผัสกับอากาศตกลงไปยังผิวน้ำ จะทำให้เกิดฟองอากาศจมตามลงไป ก่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบนี้จะใช้ประโยชน์ได้ทั้งการเติมอากาศ การกวนแบบผสมผสานและการทำให้เกิดการไหลตามทิศทางที่กำหนด
13.นิทรรศการการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติ เป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะ ของพระองค์ท่านโดยใช้วิธีธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเทคโนโลยีที่เรียบง่ายมี 4 ระบบคือ ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และระบบแปลงพืชป่าชายเลน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯยังได้จัดทำแบบจำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี มาแสดงในบริเวณโซนที่ 1 อีกด้วย
สำหรับโซนที่ 1 ที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งถือเป็นโซนที่มีความหมายและความสำคัญของคนไทย เพราะได้รวบรวมนิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญๆ ถึง 13 เรื่องราว และแบบจำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์มาจัดแสดงไว้ในพื้นที่เดียวกัน
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานยังจะใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ต้อนรับและดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้ที่สนใจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พลิกผืนดินที่แห้งแล้งกว่า 8,500 ไร่ ให้เป็นผืนดินที่อุดมบูรณ์ จนกลายเป็นศูนย์การศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่า การเกษตร การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งด้านการเกษตรอุตสาหกรรมอีกด้วย ดังมีพระราชดำริว่า ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้
"การประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรในระดับรากหญ้า โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบชลประทาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรของต่างประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยได้คัดเลือก Smart Farmer หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 8 คน เข้าร่วมประชุมและร่วมพบปะหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ กับ Smart Farmers จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก และเกาหลีใต้ รวม 16 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกตามนโยบายของรัฐบาล" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน และ ประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและ การระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) เปิดเผยว่า ในการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 45 ประเทศ จำนวนประมาณ 1,200 คน โดยเป็นระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เข้าร่วมประชุมจำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน เนปาล เอธิโอเปีย จีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน กัมพูชา ลาว และไทย
สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 หัวข้อหลักๆ คือ 1. การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2. การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง และ 3.เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจน และความหิวโหยโดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร
"การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลกและการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ(International Commission on Irrigation and Drainage : ICID) เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทั่วโลกรับทราบความก้าวหน้าการชลประทานของไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชลประทานและการระบายน้ำในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอีกด้วย" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
และที่สำคัญที่สุดผลจากจัดประชุมในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ใน 3 ด้าน ด้วยกัน คือ
1.ด้านวิชาการ นักวิชาการไทยได้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการบูรณาการสหวิชาการที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการด้านการชลประทานและการระบายน้ำในเวทีนานาชาติ สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านชลประทานกับผู้เกี่ยวข้องจากทั่วโลก นำมาซึ่งแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลระหว่างน้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ ตลอดจนแสวงหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่ออุทกภัยและภัยแล้ง
2.ด้านภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดการประชุมระดับนานาชาติของภูมิภาค เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับภูมิภาคผ่านการประชุมระดับรัฐมนตรี และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) และประเทศพัฒนาแล้ว และ 3. ภาคประชาชนและสังคม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และผู้วางนโยบายผ่านกิจกรรมต่างๆ ของการประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น Public hearing, Side event เป็นต้น