กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--มทร.ธัญบุรี
โครงการศูนย์พัฒนาการศึกษาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช พระราชดำริจัดตั้งเมื่อ พ.ศ.2522 ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ดินที่ราษฎรในอำเภอพนมสารคาม น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เป็นศูนย์การพัฒนาการศึกษาการเกษตรแห่งแรก โดยในศูนย์ดังกล่าวมีการศึกษาค้นคว้า สาธิต ขยายพันธุ์พืชและบำรุงรักษาสัตว์ ฝึกอบรม ส่งเสริมและเผยแพร่ผลการทดลองแก่เกษตรกร โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรปทุมธานี) หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับสนองพระราชดำริโครงการศูนย์พัฒนาการศึกษาเขาหินซ้อน ยังความปลาบปลื้มมาสู่ชาว มทร.ธัญบุรี
นายเฉลิม สุกปลั่ง ผู้อำนวยการวิทยาเขตเกษตรปทุมธานี (ปัจจุบันคือคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ) เล่าว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2526 หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ประธานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน แจ้งว่า มีหนังสือของกรมพัฒนาที่ดินติดต่อให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ดำเนินการพื้นที่ส่วนพระองค์ โดยทางคณะรับสนองโครงการ และได้ขอใช้พื้นที่ส่วนพระองค์ในการศูนย์การศึกษา ปฏิบัติงานเป็นศูนย์ฝึกนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เนื่องจากสมัยนั่นพื้นที่ภายในคณะเทคโนโลยีการเกษตรมีเพียง 125 ไร่ (มทร.ธัญบุรี ศูนย์รังสิต) โดยเป็นที่ตั้งของอาคารเรียนและหอพักอาจารย์เป็นส่วนใหญ่
ในการเข้าไปรับสนองโครงการพระราชดำริเขาหินซ้อนของคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นการช่วยเหลือในการวิจัยด้านแมลงทำลายพืชผักและผลไม้ภายในศูนย์การศึกษา ซึ่งได้คิดค้นและนำ"โคมไฟจับแมลง" มาใช้ที่ศูนย์การศึกษา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสว่า "คุณมาทำอะไรที่นี่ก็มาทำไป ควรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ห้ามใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์" เพื่อให้ภายในศูนย์มีความเป็นเกษตรอินทรีย์และกำจัดแมลงที่มาทำลายพืชและผลไม้ภายในศูนย์ จึงนำโคมไฟจับแมลง เป็นระบบไฟฟ้ามาใช้ ซึ่งอาศัยหลักการของแสงไฟแบล๊คไลท์ เป็นตัวล่อแมลงเพราะว่าแมลงจะชอบแสงสลัวๆ โดยทำเป็นลักษณะของตะเกียง ใส่พัดลมลงไปในตะเกียง เมื่อมีแมลงมาที่ตะเกียงพัดลมเป่าและดูดให้แมลงตกมายังถุง ซึ่งแมลงที่ได้จะนำไปวิจัยในขั้นต่อไปอีก จากการคิดค้นและทดลองดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง จากความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจของโคมไฟจับแมลง จึงได้ขยายโครงการทดลองเพิ่มขึ้นอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูกผัก โครงการกำจัดวัชพืชในสวนไม้ผลโดยใช้ฝูงโค โครงการปลูกไม้ผลตามแนวระดับลาดเอียงของพื้นที่ พร้อมทั้งเป็นการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาไปด้วย
โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูกผัก เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 ในพื้นที่ 5 ไร่เศษ พื้นที่ในศูนย์การศึกษาเป็นที่ลาดเอียง มีชั้นหินดินดานแน่นและแข็งถัดจากผิวดินลงไป 25 - 60 เซนติเมตร ทำให้มีปัญหาการระบายน้ำในแนวดิ่ง เนื้อดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงดินและเตรียมแปลงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยการไถ ตักดินขึ้น จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก แกลบดำ แกลบเหลือง เพื่อปรับสภาพดิน และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการปลูกพืชผักหมุนเวียนหลายชนิดตลอดทั้งปี เช่น มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว ข้าวโพดหวาน กะหล่ำดอก กะหล่ำดอกอิตาเลียน ผักกาดเขียว ผักกาดขาว พริกยักษ์ แตงโม และแคนตาลูป จากการศึกษาทดลองนี้ทำให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปเยี่ยมชมได้ทรงตัดพืชผักจากแปลงทดลองด้วยพระองค์เอง โดยผลผลิตที่ทยอยเก็บได้ นำไปยังห้องเครื่องในวัง และสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งทางสถาบันจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในการเยี่ยมโครงการในครั้งนั้นด้วย
โครงการกำจัดวัชพืชในสวนไม้ผลโดยใช้ฝูงโค ด้วยเหตุที่ในสวนมะม่วง เนื้อที่ 17 ไร่เศษ มีวัชพืชโดยเฉพาะหญ้าขจรจบและหญ้าคาขึ้นอยู่หนาแน่น และวัชพืชเหล่านี้จะเจริญงอกงามและขยายพันธุ์เมื่อถึงฤดูฝน แต่เมื่อครั้นถึงฤดูแล้งจะเหี่ยวแห้งเป็นเชื้อไฟป่า บางครั้งไฟลุกไหม้ทำให้ต้นมะม่วงตายเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและแรงงานปราบศัตรูพืชเป็นประจำทุกปี ทางคณะเทคโนโลยีการเกษตร จึงได้นำโคจำนวน 14 ตัว ไปปล่อยในสวนมะม่วง เมื่อเดือนตุลาคม 2527 และเดือนมิถุนายน 2528 ในเวลาเพียง 3 ปี วัชพืชต่างๆ ในบริเวณสวนมะม่วงถูกฝูงโคแทะเล็มกินและถูกเหยียบย่ำจนโล่งเตียน นอกจากนี้ฝูงโคยังให้ปุ๋ยคอกแก่พื้นที่อีกด้วย เมื่อต้นมะม่วงเติบโตดี มีพื้นที่ว่างยังได้นำกระเจี๊ยบไปปลูกแซมระหว่างต้นมะม่วงอีกด้วย
โครงการปลูกไม้ผลตามแนวระดับลาดเอียงของพื้นที่ พื้นที่ที่ใช้ในการทดลองปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีทั้งหมด 22.65ไร่ มีสภาพเป็นดินทราย พื้นที่ลาดเอียงมีการชะล้างมาก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ นอกจากนี้ยังมีหญ้าชันอากาศ หญ้าแซม หญ้าคา และหญ้าอื่นๆ ขึ้นหนาแน่น เมื่อเดือนมีนาคม 2527 ทางคณะฯ ได้เริ่มการเตรียมพื้นที่วางผังการปลูกและเตรียมหลุม เพื่อปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี จำนวน 790 ต้น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 แปลง มีการให้น้ำด้วยวิธีฉีดฝอยแบบสปริงเกอร์ให้ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืช ตัดแต่ง และเด็ดยอด คาดว่า เมื่อส้มโออายุ 4 - 6 ปี ก็จะสามารถให้ผลผลิตได้
โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จมาเยี่ยมชมโครงการ พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จไปตามสถานที่ต่างๆ ภายในศูนย์ ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงตรัสชื่นชมผลงานโคมไฟจับแมลง รวมไปถึงทรงตรัสถามทำสวนผักได้อย่างไร ทั้งที่ดินไม่ดี ระหว่างที่เยี่ยมชมสวนผักของทางคณะเทคโนโลยีการเกษตร พระองค์ท่านทรงมีพระเนตรอันแหลมคม ทรงมองไปในแหล่งน้ำใกล้ๆ แปลงผัก ซึ่งตรงนั้นเป็นการปลูกยางพาราของหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบ พระองค์ท่านทรงวินิจฉัยถามถึงระดับน้ำของแหล่งน้ำ พระองค์ทรงตรัสว่า "ทำไมน้ำมันยุบไปมากขนาดนี้" และทรงแนะต่อไปว่าการปลูกยางพาราเมื่อได้ 4 – 5 เมตร ไม่ต้องรดน้ำแล้ว ระหว่างที่ท่านเสด็จยังโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ท่านทรงห่วงใยนักศึกษาและประชาชนที่ทำงานทุกคนเป็นอย่างมาก พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาให้ทางสำนักราชเลขาธิการจัดอาหารให้กับผู้เฝ้ารับเสด็จและนักศึกษา ทั้งที่ภายในศูนย์มีโรงอาหารจัดเตรียมไว้แล้ว เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของคณะเทคโนโลยีการเกษตร และบรรดาเหล่านักศึกษาที่ได้เข้ามาฝึกปฏิบัติที่โครงการพระราชดำริแห่งนี้ พระองค์ท่านทรงตรัสว่า "ขอบใจที่พานักศึกษามาทำงานให้ ทำให้ภายในศูนย์มีความเรียบร้อยขึ้น"
นางปราณี พระเพชร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าที่บริหารทั่วไป คณะเทคโนโลยีการเกษตร นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการศูนย์พัฒนาการศึกษาเขาหินซ้อน เล่าว่า ได้ลงพื้นที่และเข้าร่วมโครงการอาจารย์ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน 1 เดือน และช่วยงานอาจารย์อีก 1 เทอม ก่อนจบการศึกษาสาขาวิชาพืชศาสตร์ ชีวิตในโครงการสมัยนั้นลำบากมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทราย ก่อนที่จะปลูกพืช จำได้เลยว่าช่วยอาจารย์ขุดดินอยู่ประมาณ 3 เดือนเพื่อปรับดิน แต่เมื่อได้เห็นผลผลิตของผักทุกคนหายเหนื่อย และเป็นภาพที่ประทับใจจนถึงทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จมาเยี่ยมชมโครงการ พระองค์ท่านทรงเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ภายในศูนย์การศึกษา ซึ่งพระองค์ทรงตรัสถามอาจารย์ถึงวิธีการต่างๆ พร้อมพระองค์ท่านได้ทรงตรัสแนะนำอาจารย์ โดยระหว่างที่พระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมโครงการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จติดตามมาด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถามพวกเราว่าทุกคนเหนื่อยไหม เป็นพระเมตตาของพระองค์ท่านที่ทรงห่วงใยประชาชนของท่าน ทุกคนวันนี้ตนเองภูมิใจที่ได้ถวายงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถนำความรู้ที่ได้มาประกอบชีวิตในปัจจุบัน
"ในการถวายงานเป็นภารกิจของข้าราชการ การที่ได้ถวายงานต่อพ่อหลวงเป็นมงคลแห่งชีวิต ก่อเกิดสุข บำรุงหัวใจ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีอุปสรรค แต่เมื่อนึกถึงโครงการของพระองค์ท่านรู้สึกเป็นสุข" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทางนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มีพื้นที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาในการทดลองและเรียนรู้วิถีเกษตร จนทำให้มีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปัจจุบัน เหล่าคณะเทคโนโลยีการเกษตร จะน้อมนำแนวทางพระราชดำริสืบต่อไป