กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักฟิสิกส์ มธ. แนะขับไม่เกิน 50 กม./ชม. ในช่วงหมอกลงจัด ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
กรุงเทพฯ 7 พฤศจิกายน 2559 – นักวิชาการด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แนะ 3 กฎการขับรถในม่านหมอก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่มักมีหมอกลงจัดในช่วงเช้าและค่ำ โดยประกอบไปด้วย
1) การรักษาความเร็วในการขับรถ ในกรณีที่หมอกลงไม่มาก โดยผู้ขับมีทัศนวิสัยในการมองเห็นมากกว่า 100 เมตร หรือประมาณ 25 คันรถ ควรลดอัตราเร็วในการขับสัก 1 ใน 3 ของอัตราเร็วในการขับปกติ ส่วนในกรณีที่หมอกลงหนาจัด โดยผู้ขับมีทัศนวิสัยในการมองเห็นน้อยกว่า 20 เมตร หรือประมาณ 5 คันรถ ควรขับรถด้วยอัตราเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
2) รักษาระยะห่างระหว่างคันรถ เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่อาจต้องมีการหยุดรถฉุกเฉิน ผู้ขับควรทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณ 4 วินาที โดยให้เลือกจุดสังเกตข้างทางเอาไว้อย่างหนึ่ง เช่น ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟ ฯลฯ เมื่อรถคันหน้าขับผ่านจุดสังเกตที่เลือกไว้ แล้วนับไปอีก 4 วินาที รถของเราจึงผ่านจุดสังเกตเดียวกัน ก็จะถือเป็นระยะห่างที่ค่อนข้างปลอดภัย
3) รักษาเส้นทางในการขับรถ โดยไม่ควรเปลี่ยนช่องทางเดินรถ หรือขับแซงรถคันอื่นในระยะไม่ต่ำกว่าระยะห่างปลอดภัยระหว่างคันรถ
ดร.ทิพย์สุดา ไชยไพบูลย์วงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว หลายพื้นที่เริ่มมีหมอกลงจัดในยามเช้าและกลางคืน โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากอุณหภูมิอากาศที่เย็นลงส่งผลให้ไอน้ำกลั่นตัวกลายเป็นหมอก ซึ่งเป็นอุปสรรคบดบังทัศนวิสัยในการขับรถจนอาจเกิดอุบัติเหตุ และสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ หากไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ จากอันตรายดังกล่าวที่สามารถเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลแห่ไปสัมผัสอากาศหนาวในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ทางคณะฯ จึงมีข้อแนะนำในการขับขี่รถยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ดังต่อไปนี้
1. รักษาความเร็วในการขับรถ ในสภาวะอากาศที่มีหมอกลง พื้นถนนจะมีความเปียกชื้น โดยทั่วไปเมื่อผิวถนนเปียก สัมประสิทธิ์การเสียดทานของผิวถนนจะลดลงประมาณ 30% ส่งผลให้ผิวถนนลื่นกว่าปกติ ดังนั้น ในกรณีที่หมอกลงไม่มาก โดยผู้ขับมีทัศนวิสัยในการมองเห็นมากกว่า 100 เมตร หรือประมาณ 25 คันรถ ควรลดอัตราเร็วในการขับสัก 1 ใน 3 ของอัตราเร็วในการขับปกติ ตัวอย่างเช่น ปกติเส้นทางนี้ ขับที่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจจะลดลงเหลือ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงส่วนในกรณีที่หมอกลงหนาจัด โดยผู้ขับมีทัศนวิสัยในการมองเห็นน้อยกว่า 20 เมตร หรือประมาณ 5 คันรถ ควรขับรถด้วยอัตราเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของอัตราเร็วรถยนต์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับ 8 พ.ศ. 2551
2. รักษาระยะห่างระหว่างคันรถ เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่อาจต้องมีการหยุดรถฉุกเฉิน เมื่อรถคันหน้ามีการชะลอตัวหรือหยุดกะทันหันในการขับรถผ่านบริเวณที่มีทัศนวิสัยไม่ดี ผู้ขับควรทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณ 4 วินาที โดยให้เลือกจุดสังเกตข้างทางเอาไว้อย่างหนึ่ง เช่น ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟ ป้ายบอกทาง ฯลฯ เมื่อรถคันหน้าขับผ่านจุดสังเกตที่เลือกไว้ แล้วนับไปอีก 4 วินาที รถของเราจึงผ่านจุดสังเกตเดียวกัน ก็จะถือเป็นระยะห่างที่ค่อนข้างปลอดภัย
3. รักษาเส้นทางในการขับรถ ไม่ควรเปลี่ยนช่องทางเดินรถ หรือขับแซงรถคันอื่นในระยะไม่ต่ำกว่าระยะห่างปลอดภัยระหว่างคันรถตลอดจนพยายามไม่ขับคร่อมเส้นทางการจราจรหรือชิดด้านใดด้านหนึ่งของถนนเกินไป เพื่อป้องกันการเฉี่ยวชนผู้ใช้ถนนคนอื่น รวมไปถึงเสาไฟฟ้า ร้านค้า แบริเออร์ และอุปสรรคริมทางต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรปฏิบัติในการขับรถในช่วงหมอกลง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกหลายประการที่ประชาชนควรนำไปใช้ ได้แก่ การตรวจเช็คสภาพรถยนต์ โดยเฉพาะระบบไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณ ยางรถยนต์ ที่ปัดน้ำฝน และระบบเบรก ให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง การเปิดไฟหน้ารถและไฟตัดหมอก เพื่อช่วยส่องหนทาง แต่ต้องระมัดระวังการใช้ไฟสูง ซึ่งนอกจากจะบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ของผู้ที่ขับสวนทาง ในกรณีที่หมอกลงหนาแสงจะสะท้อนจากหมอกเข้าตาผู้ขับขี่เองด้วย การไล่ฝ้ากระจกรถ โดยในการแก้ไขเบื้องต้นให้ลดระดับกระจกหน้าต่างรถลงเล็กน้อย เพื่อปรับอุณหภูมิภายในและภายนอกตัวรถให้สมดุลกัน และควรมีการพกผ้าแห้งเผื่อใช้ในการเช็ดกระจกมองข้างด้วย ทั้งนี้หากฝ้าขึ้นมากให้นำรถไปจอดในบริเวณที่ปลอดภัย แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดกระจกให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางต่อ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเพื่อรักษาชีวิตอันมีคุณค่าของทุกคนเอาไว้จากเหตุการณ์ที่เราพึงระวังได้ ดร.ทิพย์สุดา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือเข้าไปที่www.sci.tu.ac.th