เตือนภัยการซื้อประกัน ไม่ให้ตกเป็นตัวประกัน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 8, 2016 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--อิมมีเดียท รีซอร์สเซส 2 ไตรมาสแรกของปี 2559 วงการประกันภัยยังคงมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว และคาดว่าจะส่งผลระยะยาวไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี เหตุเพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบของสภาวะเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง ซึ่งมีผลกระทบมาถึงด้านการทำประกันภัยและประกันชีวิตด้วย และเป็นจุดที่นำมาซึ่งช่องทางฉกฉวยผลประโยชน์จากประชาชนที่ต้องการทำประกันด้วยข้อเสนอเบี้ยประกันราคาพิเศษของมิจฉาชีพที่สวมหน้ากากเป็นตัวแทนและนายหน้าขายประกัน คงไม่มีสิ่งใดเลวร้ายไปกว่าการซื้อประกันเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง และเสริมความมั่นคงของชีวิต แล้วพบว่าการจ่าย ค่าเบี้ยประกันไปนั้นเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่สูญเปล่าเพราะถูกหลอกลวงจากตัวแทนหรือนายหน้าเถื่อน ซึ่งยึดเอาผู้ทำประกันเป็นตัวประกันความร่ำรวยส่วนตน และแม้ว่าประกันที่ผู้ทำประกันซื้อจะเป็นประกันราคาแพงจากบริษัทที่มั่นคง ก็ไม่ได้หมายความว่าเบี้ยประกันนั้นได้ถูกส่งต่อไปถึงบริษัทที่รับประกัน หากยังละเลยการตรวจสอบเอกสารการทำประกัน หลักฐานการจ่ายเงิน และที่มาของตัวแทนหรือนายหน้าผู้ขายประกัน ซึ่งมี 3 ข้อแนะนำสำคัญสำหรับผู้ต้องการทำประกัน ดังนี้ • พิจารณาฐานความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของบริษัทที่จะทำประกัน โดยเฉพาะฐานะทางการเงินว่ามีความสามารถรองรับการจ่ายสินไหมที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยในปัจจุบัน ทุกบริษัทประกันภัยใช้เกณฑ์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เป็นผู้กำหนด อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 140% ซึ่ง หากตัวเลขอัตราส่วนยิ่งสูงก็จะยิ่งมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น • ตรวจสอบตัวตนของตัวแทนหรือนายหน้าขายประกันว่ามีใบอนุญาตขายประกันหรือไม่ สามารถตรวจสอบตัวแทนหรือนายหน้าขายประกันภัยด้วยการโทรไปสอบถามที่บริษัทประกัน ซึ่งนายหน้าหรือตัวแทนมานำเสนอว่ามีตัวตนหรือไม่ และ/หรือ สอบถามไปที่ คปภ. สายด่วน 1186 ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นนายหน้าหรือตัวแทนที่ถูกกฎหมายหรือไม่ หรือ เช็คข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ คปภ. ที่ www.oic.or.th • การชำระค่าเบี้ยประกันภัย การชำระเงินค่าเบี้ยประกันให้แก่นายหน้าจะต้องขอดูหนังสือมอบอำนาจให้รับชำระเบี้ยแทน (ม.66/2) และ การชำระเงินผ่านตัวแทน จะต้องให้ตัวแทนแสดงใบอนุญาตเป็นตัวแทนก่อนเสมอ (ม.66/1) หากยังไม่มั่นใจหรือกรณีเบี้ยประกันภัยมีจำนวนมากก็ควรจะโอนเงิน หรือชำระเป็นเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายโดยตรงแก่บริษัทประกันภัยแทนการชำระเงินให้แก่นายหน้า หรือ ตัวแทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานายหน้า หรือ ตัวแทนปลอม ด้านนายโรวัน ดี อาซี่ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการซื้อประกันของประชาชนในปัจจุบันว่า "เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เมื่อเกิดกรณีผู้เอาประกันถูกหลอกลวงจากผู้ที่แอบอ้างตนเองว่าเป็นตัวแทนหรือนายหน้าขายประกัน ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ควรได้รับความคุ้มครองขึ้น ผู้เอาประกันที่ถูกหลอกลวงถึงจะรู้ว่าตนเองที่แท้จริงไม่ได้มีประกันเอาไว้เลย และจะไม่ได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันนั้น เพราะไม่ได้มีกรมธรรม์ที่ทำประกัน ไว้จริง จึงไม่สามารถเรียกรับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันกับบริษัทใด หรือตัวแทนคนไหน จึงควรพิจารณาและทำการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน และหากผู้เอาประกันคนใด เกิดข้อสงสัยในกรมธรรม์ของตนว่าถูกต้องหรือไม่ จะได้รับความคุ้มครองอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบได้โดยตรงที่บริษัทประกันนั้นๆ" โดย บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ