กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--อินทัช โฮลดิ้งส์
"การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506
"ผู้ปิดทองหลังพระ" เป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ "ผู้พิทักษ์ป่า" แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ดูแลผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นความภาคภูมิใจของชาติ ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย โดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2534
หากแต่น้อยคนเหลือเกิน ที่จะทราบว่าเบื้องหลังความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเขียวขจีที่กว้างใหญ่กว่า 1.8 ล้านไร่ คือเจ้าหน้าที่เพียง 260 ชีวิต โดยจำแนกเป็นผู้พิทักษ์ป่าจำนวน 200 นายและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลขอบเขตงานด้านอื่นๆ อีกประมาณ 60 นาย กลุ่มคนเหล่านี้ต้องทุ่มเทแรงใจแรงกายเพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าให้คงอยู่ ด้วยทรัพยากรคนที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจกล่าวได้ว่าผู้พิทักษ์ป่า 1 คนต้องดูแลผืนป่าถึงเกือบ 10,000 ไร่ ผ่านการเดินลาดตระเวนตามจุดต่างๆที่อาจกินเวลานานถึง 15 วันต่อการลาดตระเวนหนึ่งครั้ง
แม้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าผู้พิทักษ์ป่าหมายถึงการต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ รวมถึงอาศัยความอดทนอย่างมาก เพราะต้องออกลาดตระเวนครั้งละหลายวัน แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อทำหน้าที่ให้แก่ประเทศชาติ
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เผยว่า การลาดตระเวนเพื่อสำรวจและป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่าและตัดไม้แต่ละครั้งนั้น หมายถึงการปฏิบัติภารกิจที่เอาชีวิตเข้าเสี่ยง เพราะอาจมีการปะทะกับเหล่าพรานป่า หรือแม้แต่อันตรายและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากกับดักล่าสัตว์ การทำหน้าที่ของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า จึงไม่ได้เสียแค่หยาดเหงื่อ แต่อาจรวมถึงเลือดเนื้อของผู้พิทักษ์ป่าเอง
"ผู้พิทักษ์ป่าทุกนายต้องเสียสละเป็นอย่างมากในการออกลาดตระเวน เพราะการออกเดินทางแต่ละครั้งหมายถึงการเอาชีวิตเข้าเสี่ยง ไม่มีใครทราบว่าการออกปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้งจะมีโอกาสได้กลับบ้านอีกหรือไม่ หรือใครจะดูแลครอบครัวของพวกเขาในระหว่างที่ต้องเข้าไปในป่าเพื่อทำภารกิจ" นายสมโภชน์ กล่าว
นายสมถวิล กันยา หนึ่งในหัวหน้าหน่วยลาดตระเวน ผู้เคยทำงานเป็นทหารในฝ่ายป้องกันเป็นเวลา 5 ปี ก่อนเข้ามาทำงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า "การปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่าเกิดขึ้นเพราะใจรัก ถึงแม้จะไม่มียศหรือตำแหน่งใดๆ และเป็นเพียงพนักงานธรรมดาคนหนึ่ง หากผลที่ได้รับกลับมาคือผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด"
ท่ามกลางการทำงานที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และความยากลำบาก การทำงานของเหล่าผู้ปิดทองหลังพระเพื่อผืนป่ากลุ่มนี้ ยังมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์การทำงานและทรัพยากร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา เยาวชน การศึกษา ครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสและเข้าใจการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าแห่งห้วยขาแข้งอย่างใกล้ชิด ทำให้บริษัทเข้าร่วมเป็นหนึ่งแรงสนับสนุนผ่านการผลักดัน "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี" เพื่อส่งมอบกำลังใจให้แก่กลุ่มคนที่อุทิศแรงกายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และมุ่งเน้นสร้างขวัญและกำลังใจในการปฎิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่าและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ทุนการศึกษาให้แก่บุตรของผู้พิทักษ์ป่าจำนวนหนึ่ง พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าและครอบครัวให้ดีขึ้น นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
"ผู้พิทักษ์ป่ากว่า 260 ชีวิต มีขอบเขตการปฏิบัติงานที่กว้างและหลากหลายในการจัดการพื้นที่คุ้มครอง หลายๆ ครั้ง เราต้องเข้าไปทำงานในสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก ขณะที่อุปกรณ์และเสบียงที่จำเป็นในการทำงานมีไม่เพียงพอ แต่ถึงแม้การปฏิบัติภารกิจของผู้พิทักษ์ป่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง แต่สิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่ากับแผ่นดิน มันคือความภาคภูมิใจ และความตั้งใจที่จะทำเพื่อตอบแทนแผ่นดิน
การสนับสนุนของทางอินทัชในครั้งนี้ สามารถช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายสมโภชน์ มณีรัตน์ กล่าว
"ผมรู้สึกชื่นชมและขอบคุณจากใจจริงต่อการปฏิบัติหน้าที่อันเสียสละของผู้พิทักษ์ป่า หน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆของพวกเขาเหล่านี้คือ การทำเพื่อชาติ การทำเพื่อสังคม และเพื่อพวกเราทุกคน นี่คือการเอาตัวเข้ารับความเสี่ยงและเสียสละตัวเองเพื่อสืบสานและปกป้องสิ่งดีๆของประเทศไทยไว้ให้คงอยู่" นายฟิลิป เชียง ชอง แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
เพราะป่าเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศชาติ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรตระหนักถึงคุณค่าและช่วยกันบำรุงรักษาให้คงอยู่ ถึงแม้จะเป็นเพียงหนึ่งแรงสนับสนุนเล็กๆ ให้แก่ผู้พิทักษ์ป่าเหล่านี้ แต่อินทัชก็ภูมิใจที่มีส่วนช่วยเหลือบุรุษที่เป็นเสมือน 'คนเบื้องหลัง' ที่คอยปกป้องผืนป่าของประเทศไทย ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อลูกหลานสืบไป