กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
กำไรสุทธิคิดเป็นมูลค่า 317 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 703 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 และจากต้นปีถึงปัจจุบัน ตามลำดับ
รายได้จากการดำเนินงานแต่ละหน่วยในไตรมาส 3 อยู่ที่ 556 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากต้นปีถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์
อัตรากำไรสุทธิต่อยอดขายในไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 8.2 ขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 14.5
ทวีปอเมริกาทำรายได้คิดเป็นมูลค่า 305 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตรากำไรจากการดำเนินงานร้อยละ 14.7
ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาทำรายได้คิดเป็นมูลค่า 152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตรากำไรจากการดำเนินงานร้อยละ 12.3
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทำรายได้คิดเป็นมูลค่า 99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตรากำไรจากการดำเนินงานร้อยละ 18.3
บริษัทแถลงจุดยืนเป้าหมายทางการเงินจนถึงปี 2563 และแผนงานการจัดสรรทุน
มร.ริชาร์ด เจ. เครเมอร์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท กู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ จำกัดแถลงผลประกอบการประจำไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559มร.ริชาร์ด เจ. เครเมอร์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า "เราสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายและสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มอัตรากำไรจากการดำเนินงานโดยรวมกว่าร้อยละ 14.5 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานในหน่วยธุรกิจหลักจากต้นปีถึงปัจจุบันสูงเป็นประวัติการณ์ การคาดการณ์ผลงานในปี 2559 ล่าสุด สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจยางสำหรับรถบรรทุกในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ความผันผวนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าที่นำเสนอต่อลูกค้า หรือศักยภาพของเราในการบริหารแผนงานระยะยาวอย่างแน่นอน"
"กลยุทธ์ของเราคือ การใช้โอกาสจากกระแสธุรกิจที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรม ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการมากขึ้นในยางที่มีขอบยางกว้าง มีคุณค่าสูงในการตอบสนองการใช้งานเราจึงมีความเชื่อมั่นว่าความโดดเด่นในการมีผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงต่างๆ ของกู๊ดเยียร์ ผนวกกับข้อได้เปรียบด้านการจัดจำหน่าย จะสามารถขับเคลื่อนให้บริษัทดำเนินธุรกิจไปบนเส้นทางสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้จนถึงปี 2563 จากที่ได้แถลงจุดยืนของกู๊ดเยียร์ให้ทราบกันโดยทั่วไปเมื่อไม่นานมานี้" มร. เครเมอร์กล่าว
กู๊ดเยียร์ได้แถลงการณ์อันสอดคล้องกับกลยุทธ์นี้ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับเจตนารมณ์ที่ต้องการปิดโรงงานฟิลิปส์เบิร์ก ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางของกู๊ดเยียร์ในประเทศเยอรมนี พร้อมจัดระเบียบปรับปรุงสมรรถนะเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตยางประเภทที่เพิ่มมูลค่าสูงสุดในยุโรป "เป้าหมายของเราคือการเป็นผู้นำในธุรกิจยางประเภทเพิ่มมูลค่าสูงสุด และการลดโอกาสเสี่ยงในธุรกิจที่มียอดขายตกและถดถอย เพื่อหันมายึดมั่นในคุณค่าของแบรนด์กู๊ดเยียร์ และช่วยเสริมสร้างธุรกิจของลูกค้าให้เติบโตแบบมีกำไรยิ่งขึ้น" มร. เครเมอร์กล่าว
ทั้งนี้ ยอดขายของกู๊ดเยียร์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 อยู่ที่ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจาก 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการไม่นับรวมผลประกอบการของบริษัทย่อยในประเทศเวเนซุเอลา
สำหรับยอดจำหน่ายยางรวมอยู่ที่ 42 ล้านเส้น ซึ่งไม่ต่างกันมากเมื่อเทียบกับปี 2558 หลังจากปรับไม่นับรวมผลประกอบการในประเทศเวเนซุเอลาไปเมื่อปลายปี 2558 ทั้งนี้ การเติบโตทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้ามาชดเชยภาวะหดตัวในทวีปอเมริกาและยุโรป รวมทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยรวมแล้วการจำหน่ายยางรถยนต์ทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์ติดรถลดลงร้อยละ 6
รายได้สุทธิของกู๊ดเยียร์ในไตรมาส 3 ของปี 2559 มีมูลค่า 317 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จาก 271 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (99 เซ็นต์ต่อหุ้น) ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดหย่อนภาษีเงินได้ ที่มีส่วนช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนการบริหารงานต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้สุทธิที่ปรับแล้วในไตรมาส 3/2559 มีมูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นจาก 271 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (99 เซ็นต์ ต่อหุ้น) ในปี 2558 ทั้งนี้ ราคาต่อหุ้นเป็นราคาหลังการปรับลด
ผลงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
รายได้จากการขายของกู๊ดเยียร์หลังสิ้นสุด 9 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 11.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการไม่นับรวมผลประกอบการของประเทศเวเนซุเอลา และการเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลของต่างประเทศที่ไม่น่าพอใจ
ในส่วนของยอดจำหน่ายยางรวมอยู่ที่ 125 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ซึ่งเกิดจากการเติบโตทางธุรกิจในทวีปเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ที่ทางบริษัทได้เข้าถือครองหุ้นในสัดส่วนที่มีอำนาจควบคุมในบริษัท นิปปอน กู๊ดเยียร์ จำกัด (NGY) และในประเทศจีน โดยที่ปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์ในตลาดยางรถยนต์ทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์กู๊ดเยียร์ในตลาดยางติดรถลดลงร้อยละ 3 ทั้งนี้ หากไม่รวมถึงผลกระทบจากการไม่นับรวมผลประกอบการในประเทศเวเนซุเอลา ยอดจำหน่ายยางรวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2
รายได้สุทธิตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันของกู๊ดเยียร์มีมูลค่า 703 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ที่มูลค่า 687 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น) อันเป็นผลมาจากรายจ่ายด้านภาษีเงินได้ลดลง เนื่องจากการปรับปรุงภาษีบางรายการ ในขณะที่กำไรสุทธิที่ปรับแล้วตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีมูลค่า 818 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มูลค่า 649 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น) ทั้งนี้ ราคาต่อหุ้นทั้งหมดมีการปรับตัวลดลง
กู๊ดเยียร์ได้รายได้จากการดำเนินงานในแต่ละหน่วยอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลมาจากการไม่นับรวมผลประกอบการของประเทศเวเนซุเอลา ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานในแต่ละหน่วยที่สำคัญ ที่ไม่นับรวมผลประกอบการของประเทศเวเนซุเอลา อยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันของปี 2558
ในทวีปเอเชียแปซิฟิก รายได้จากการขายของกู๊ดเยียร์ในไตรมาส 3 ของปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นมูลค่า 541 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ รายได้จากการขายได้สะท้อนถึงยอดจำหน่ายยางที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางธุรกิจในญี่ปุ่น จีน และอินเดีย แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานดังกล่าวที่เติบโตขึ้น อาจได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อยจากราคาและสัดส่วนการขายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลมาจากราคาของวัตถุดิบต่างๆ ลดลง โดยที่ปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์ในตลาดยางรถยนต์ทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยางรถยนต์กู๊ดเยียร์ในตลาดยางติดรถเพิ่มขึ้นร้อยละ 16