กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
ดร. ยาค็อบ แอสแตทกี้ (Dr Yacob Astatke) จากมหาวิทยาลัยมอร์แกนสเตท สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ได้รับรางวัลประจำปีนี้
แอร์บัส กรุ๊ป และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมโลก (Global Engineering Deans Council: GEDC) ประกาศมอบรางวัล GEDC Airbus Diversity Award ประจำปี 2559 ให้แก่ ดร. ยาค็อบ แอสแตทกี้ จากมหาวิทยาลัยมอร์แกนสเตท สหรัฐอเมริกา สำหรับผลงานของเขาในการส่งเสริมการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยพิธีมอบรางวัลมีขึ้นในระหว่างการประชุม GEDC and World Engineering Education Forum (WEEF) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
รางวัลดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความหลากหลายในสายงานด้านวิศวกรรมทั่วโลก โดยให้การยกย่องโครงการริเริ่มระดับรากหญ้าและบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังโครงการเหล่านั้น ซึ่งช่วยให้นักศึกษาที่มีประวัติและภูมิหลังแตกต่างกันสามารถเรียนและประสบความสำเร็จในสายวิศวกรรมได้
ดร. ยาค็อบ แอสแตทกี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลในปีนี้ จากผู้สมัครทั้งหมด 40 ราย ใน 17 ประเทศ โดยเขาสามารถนำเสนอผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งได้แก่โครงการริเริ่มด้านการฝึกอบรมและเทคโนโลยีตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเอธิโอเปีย เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในทวีปแอฟริกา ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ดร. ยาค็อบ แอสแตทกี้ ได้จัดทำหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติและเน้นการฝึกอบรม เขาได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัย 5 แห่งในเอธิโอเปียนำวิธีการสอนและเทคโนโลยีโมบายสตูดิโอ (Mobile Studio) ไปปฏิบัติ รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการรับบริจาคอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ ด้วย
นอกจากได้รับโอกาสในการเผยแพร่ผลงานไปทั่วโลกแล้ว ดร. แอสแตทกี้ ยังได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในการนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายพร้อมกับผู้เข้าชิงรางวัลอีก 2 รายนั้น ดร. แอสแตทกี้ ได้นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการผู้ตัดสินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ นำโดย นายชาร์ลส์ แชมเปี้ยน รองประธานบริหารฝ่ายวิศวกรรมของแอร์บัส และ นายปีเตอร์ คิลแพทริค ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมโลก และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม สหรัฐอเมริกา
"สำหรับแอร์บัส ความหลากหลายคือดีเอ็นเอของเรา ความสำเร็จในอนาคตของเราจะมาจากความหลากหลายของแรงงาน เพราะนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และประสิทธิภาพนั้นล้วนขับเคลื่อนได้ด้วยความหลากหลายนี้" นายชาร์ลส์ แชมเปี้ยน กล่าว "ความสำเร็จของผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2559 เป็นบทพิสูจน์ถึงการทำงานหนักและความทุ่มเทของเขาในสาขานี้ เราหวังว่าหัวหน้าส่วนวิศวกรรมจากทั่วโลกจะได้รับแรงบันดาลใจในการเจริญรอยตามตัวอย่างนี้ และรับเอาโครงการริเริ่มเหล่านี้ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างชุมชนวิศวกรระดับโลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น"
แอร์บัส กรุ๊ป และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมโลก มีความเชื่อเหมือนกันว่า ทั้งอุตสาหกรรมและสถานศึกษาจำเป็นต้องสนับสนุนผู้เรียนที่มีความหลากหลายมากขึ้นให้ได้เรียนรู้และทำตามความใฝ่ฝันในสายงานวิศวกรรม คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการประเมินการนำเสนอผลงานของผู้เข้าชิงรางวัล โดยพิจารณาจากความสามารถของผู้ชิงรางวัลในการถ่ายทอดความต้องการด้านความหลากหลายทางวิศวกรรมให้เกิดขึ้นจริง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถวัดผลได้ ผ่านโครงการริเริ่มที่มีศักยภาพที่จะนำไปปฏิบัติตามได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด
"ผู้เข้าสู่รอบสุดท้าย 3 รายของเราได้ริเริ่มความท้าทายที่สำคัญในการสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวหันมาประกอบอาชีพเป็นวิศวกรกันมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาสำคัญ ๆ หลายเรื่องที่เรากำลังเผชิญในทศวรรษที่ 21" นายปีเตอร์ คิลแพทริค แห่งสภาคณบดีคณะวิศวกรรมโลก กล่าว "ประเด็นก็คือการร่วมกันมองไปที่ผลงานซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับความสำเร็จ งานที่เราสามารถทำได้ และจะสร้างความแตกต่าง"
สำหรับคณะกรรมการตัดสินนั้นประกอบไปได้วย ดร. สิริน เตกิเนย์ ประธานและอธิการบดี มหาวิทยาลัย ISIKUN และผู้นำของสภาคณบดีคณะวิศวกรรมโลก ศาสตราจารย์ ฉือตี้ อู๋ กรรมการมหาวิทยาลัยชิงหวา ประธาน CEEAA ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาวิศวกรรมนานาชาติภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก (ICEE) และผู้อำนวยการคณะวิทยาการจัดการของ NSFC ศาสตราจารย์ ซูนจา โช ประธานของมหาวิทยาลัยอินฮา (ในเครือ KAL) เกาหลีใต้