กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· กสอ.จับมือคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทยจัดประกวด THAILAND COSMETIC CONTEST 2016 พบนวัตกรรมสารสกัดน้ำมันจากตัวอ่อนของแมลง ขึ้นแท่นสิทธิบัตร WTO
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม รุกบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางผ่านการดำเนินงานในรูปแบบการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์ ชี้เป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานแบบเครือข่ายและเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นและอุปสงค์ จากทั้งในและต่างประเทศในอัตราที่สูง โดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.7 แสนล้านบาท พร้อมเผยเตรียมเร่งผลักดัน ให้กลุ่มธุรกิจนี้ สามารถก้าวเข้าไปติด 1 ใน 10 ของเมืองแห่งเครื่องสำอางโลก และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาคหรือเป็นปารีสแห่งเอเชีย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยนำร่องจัดกิจกรรม THAILAND COSMETIC CONTEST 2016 ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางผ่านตราสินค้าไทย ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้พบนวัตกรรมสารสกัดน้ำมันจากตัวอ่อนของแมลงที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยังได้ผลักดันสู่การจดสิทธิบัตรสากล ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องดีในด้านการคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อก้าวสู่ตลาดโลกได้ต่อไป
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางถือเป็นหนึ่ง ในตัวอย่างการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแบบเครือข่าย โดยจะเห็นได้จากทิศทางการเติบโตที่มีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ นอกจากนี้ยังถือเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นและอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศในอัตราที่สูง (ที่มา: ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งความก้าวหน้าในหลากหลายด้านนี้เกิดจากการสร้างความร่วมมือทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคสถาบันการวิจัย และภาครัฐ พร้อมทั้งกลยุทธ์การปรับตัวในหลาย ๆ รูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ด้านนวัตกรรมการผลิต การร่วมมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ถือเป็นรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ดีที่กลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจอื่นๆ จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบและสร้างแนวทางการดำเนินอุตสาหกรรมของตนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในระดับห่วงโซ่อุปทานที่สามารถบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูล จากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยจะส่งผลให้การประกอบธุรกิจเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กระแสความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ ในปี 2559 ยังได้ร่วมมือกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยนำร่องจัดกิจกรรม THAILAND COSMETIC CONTEST 2016 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมประกวดสุดยอดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเป็นการเฟ้นหางานต้นแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าไทยเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการทั่วไปได้ โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อที่จะสามารถสร้างการแข่งขันกับประเทศชั้นนำของโลกที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยแบ่งเป็น 10 สาขา ได้แก่ 1.รางวัล Cosmetic 4.0 2.รางวัล Thai HerbCosmetic 3.รางวัล Thai Rice Cosmetic 4.รางวัล Cosmetic Science 5.รางวัล Global Green Cosmetic 6.รางวัล BiotechCosmetic 7.รางวัล The Best Thai Graphic Design 8.รางวัล Social SME 9.รางวัล Popular Vote และ 10.รางวัล Thai Spa ทั้งนี้ ผู้ที่มีความโดดเด่นและได้รับรางวัลในแต่ละสาขาจะได้รับการจดสิทธิบัตร พร้อมทั้งได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเพื่อการต่อยอดการดำเนินธุรกิจเครื่องสำอางต่อไปในอนาคต
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพัฒนาและเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่เห็นในปัจจุบัน กสอ. มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งผลักดันให้กลุ่มธุรกิจนี้สามารถก้าวเข้าไปติด 1 ใน 10 ของเมืองแห่งเครื่องสำอางโลกภายในระยะเวลา 3 - 5 ปี โดยขณะนี้ไทยติดอันดับที่ 17 ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.7 แสนล้านบาท (ที่มาข้อมูล : สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย) ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้เป้าหมายที่วางไว้สามารถเป็นไปได้ โดยเชื่อว่ากำลังซื้อจากตลาดในต่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นจะเป็นกำลังซื้อหลักที่สำคัญ นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต ในภูมิภาคหรือเป็นปารีสแห่งเอเชีย ซึ่งมั่นใจว่าการครองอันดับ 1 ในเอเชียเป็นเรื่องที่ไม่ยาก
นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายสู่การเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยแล้วนั้น ปัจจุบันยังมีการพัฒนาและรวมกลุ่มกับประเทศต่าง ๆ สู่การเป็นหนึ่งในสมาชิกคลัสเตอร์เครื่องสำอางโลก หรือ Cosmetic Valley โดยถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแรกของไทยที่ได้เข้าสู่ในระดับนานาชาติ ซึ่งนับว่าสัญญาณที่ดีที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมดังกล่าวทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เกาหลี เป็นต้น โดยขณะนี้ได้มีการลงนามการให้การสนับสนุนและส่งเสริมการร่วมมือพัฒนา ในด้านต่าง ๆ ทั้งการแสดงสินค้าในเวทีระดับนานาชาติ การเข้าถึงแหล่งข้อมูล การให้ความช่วยเหลือในด้านสิทธิประโยชน์ด้านวัตถุดิบ การวิจัย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการผลิต เป็นต้น โดยเป็นการเชื่อมโยงในแบบ 360 องศา ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเกิดความทัดเทียมและเทียบเท่ากับแบรนด์สินค้าชั้นนำในระดับสากลได้ต่อไป
ด้านนายชาญณรงค์ แสงเดือน กรรมการผู้จัดการบริษัท โอริกก้า จำกัด และผู้ได้รับรางวัล Cosmetic 4.0 จากกิจกรรม THAILAND COSMETIC CONTEST 2016 กล่าวว่า นวัตกรรมในการผลิตเครื่องสำอางเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือนำพาให้ธุรกิจสามารถไปได้ไกลในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันตนค้นพบสารสกัดน้ำมันจากตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสารสำคัญคือกรดลอริก โดยทั่วไปจะพบได้ในน้ำนมแม่ และน้ำมันมะพร้าว คุณสมบัติจากสารสกัดดังกล่าวเป็นเรื่องที่แปลกใหม่และไม่เคยพบมาก่อนในวงการเครื่องสำอางและวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถต้านมะเร็ง ลดการอักเสบ ลดไขมัน มีโอเมก้า 3 6 และ 9 สามารถก่อให้เกิดข้อดีในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านการสร้างมูลค่าและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรสากลกับ WTO ซึ่งจะเป็นเรื่องดี ในด้านการคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยในอนาคตจะทำให้สินค้ามีความแตกต่างและแปลกใหม่จากสินค้าทั่วไป ทั้งนี้ นอกจากการค้นพบนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว ตนยังมีความมุ่งมั่นที่จะต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อการพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยตอนนี้ได้รับสัญญาณที่ดีจากประเทศเมียนมาร์ที่ได้ทำข้อตกลงเพื่อการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากกำลังซื้อของประชากรในประเทศที่กำลังเติบโตสูง
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02 202 4575 หรือ เข้าไปที่www.dip.go.th
งาน Thailand Cosmetic Contest ดำเนินไปได้ด้วยดีโดยการสนับสนุนรางวัลจากภาครัฐและองค์กรชั้นนำมูลค่ารวม 1,000,000 บาท โดยมีรางวัลดังนี้
1.รางวัล Cosmetic 4.0 รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม มีบรูณาการในสังคม สามารถทำให้เศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน มั่งคั่ง
2. รางวัล Thai Herb Cosmetic รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีการพัฒนาใช้สมุนไพรไทยที่มีความปลอดภัยหรือโดดเด่นทางด้านสรรพคุณที่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ และมีเรื่องราวในอดีตหรือตำนานที่น่าสนใจสามารถใช้ในด้านการตลาดได้เป็นอย่างด
3. รางวัล Thai Rice Cosmetic รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจาก โครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีการพัฒนาใช้ ข้าวไทย มาพัฒนานวัตกรรมหรือสร้างความแปลกใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าข้าวให้สามารถจำหน่ายได้ระดับนานาชาติทั้งนี้พิจารณาจากสูตรตำรับที่มีการใช้ข้าวในตำรับเกิน 10 %
4. รางวัล Global Green Cosmetic รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีการใช้สารในตำรับสูตรเป็นสารธรรมชาติและมีการดำเนินธุรกิจแนวการตลาดเป็นธุรกิจสีเขียวในกรณีที่เป็นสินค้าออแกนิคสากลจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
5. รางวัล Cosmetic Science รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีการพัฒนาจากงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางของไทยที่มีผลการทดลองของการใช้หรือการพิสูจน์ที่ยอมรับเชิงสถิติได้ สำหรับรางวัลนี้ต้องมีงานวิจัยนำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณา
6. รางวัล Biotech Cosmetic รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีการพัฒนาจากนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีผลการทดลองของการใช้หรือสามารถพิสูจน์ผลที่มีต่อผิวในทางวิทยาสตร์ สำหรับรางวัลนี้ต้องมีการนำเสนองานวิจัยเทคนิคชีวภาพที่ใช้ประกอบการพิจารณา
7. รางวัล Best Thai Graphic Design รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้ที่มีการออกแบบที่สามารถผลิตจริง โดยมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ แสดงถึงอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ไทย
8. รางวัล Social SME รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงการต้นแบบหรือสินค้าที่มีการทำแผนการตลาดและแนวทางทำธุรกิจที่มีมาตราฐาน ใช้หลักการตลาดนำการผลิต และรางวัลนี้ต้องมีการนำเสนอแผนการตลาดประกอบการพิจารณา ในกรณีที่เป็นโอทอปหรือสตารท์อัพ เอสเอ็มอี ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
9. รางวัล Popular Vote เป็นรางวัลที่ได้รับการโหวตจากประชาชนในกลุ่มคลัสเตอร์และกลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป สำหรับหลักเกณฑ์ใช้ผลการให้คะแนนจากเว็ปไซต์ของไทยคอสเมติคคลัสเตอร์จาก 100 โครงงานที่เข้ารอบ
10. รางวัล Thai Spa รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากโครงงานต้นแบบหรือสินค้าที่ใช้แนวทาง ของสปาที่เน้นการใช้แนวทางของเอกลักษณ์และวัตถุดิบจากพืชสมุนไพร และแสดงถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นต่าง ๆ ของไทย