กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
"ทุกวันนี้เราเล่นเน็ตมากกว่าขับรถ ดูหนัง กินข้าว และนอนหลับ ใช่ไหมครับ"
แล้วอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานอย่างไร?
คำตอบคือ ทุกครั้งที่คุณใช้อินเทอร์เน็ต เท่ากับบริโภคพลังงานไฟฟ้าและปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกมานั่นเอง !!
อัตราการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 จากการใช้อินเทอร์เน็ต เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น คน 1 คน เปิดหน้า Google ขึ้นมา เท่าการใช้พลังงานของรถยนต์ปกติขับไป 3 นิ้ว แล้วถ้าโดนไวรัสล่ะก็เทียบเท่ากับปริมาณที่เราเปิดหน้า Google เช่นกัน
บางคนคิดว่าแค่นี้น้อยจะตาย เอางี้ครับ! ลองเทียบใหม่ ระหว่าง 1 คน = 0.3 กรัมของ CO2 คูณด้วยจำนวนคนทั้งโลก 2 ล้านล้านคน ที่เปิดเว็บพร้อมกัน
คราวนี้คงนึกภาพพลังงานที่ใช้ไปออกใช่ไหมครับ มหาศาลขนาดไหน!!
จริงอยู่ที่การบริโภคพลังงาน ใช่ว่าจะวัดได้ด้วยเครื่องตรวจวัด แต่เลองมองย้อนกลับมาคิดว่า ทรัพยากรที่ใช้ในการเล่นอินเทอร์เน็ตมีอะไรบ้าง?
เริ่มตั้งแต่เปิดมือถือเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการให้บริการจากศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ จากศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เชื่อมต่อกลับไปที่ศูนย์รวมทวีป ทุกส่วนของการเชื่อมต่อล้วนใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานทั้งนั้น ยังไม่รวมการเชื่อมต่อคลาวด์ทั้งหลาย (Apple Google ฯลฯ) คูณศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งระบบ
ยกกำลังไปเลยครับ มหาศาลเลยทีเดียว!!
คราวนี้เห็นหรือยังครับว่าอินเทอร์เน็ตใช้ทรัพยากรไปมากมายขนาดไหน จึงเป็นเหตุผลที่องค์กร และรัฐบาลจากทุกมุมโลก หันมาตั้งนโยบาย หรือที่เราเรียก Policy ร่วมกัน
เพียงแค่ลดการใช้ลง 1 วินาที หรือลดความเสื่อมของอุปกรณ์ เท่ากับช่วยลดกำลังผลิตไฟฟ้า ลดน้ำมัน ลดถ่านหิน ลดการทำลายโอโซนไปอย่างมากมายเหลือจะกล่าวแล้ว
อธิบายมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าให้หยุดใช้อินเทอร์เน็ตนะครับ ใช้ไปตามปกตินี่แหละ แต่ลดความล่าช้าในการเชื่อมต่อข้อมูล ลดระยะทาง หันมาใช้ระบบเดียวกัน ลดปัญหาการคำนวณ ฯลฯ
ที่สำคัญคือหากเราร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการใช้อินเทอร์เน็ต จะช่วยลดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
แล้วคนไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอินเทอร์เน็ตไทยในเวทีโลกได้อย่างไร?
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับสมาคมอินเตอร์เน็ต หรือ Internet Society ชื่อย่อคือ ISOC (ไอซ็อก)
ISOC เป็นองค์กรความร่วมมือและประสานงานของสมาชิกอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรและมีนโยบายสนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการศึกษาและงานวิจัย รวมทั้งทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป
ISOC ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานและเทคโนโลยีเพื่อใช้ในอินเทอร์เน็ต โดยมีคณะทำงานอาสาสมัครร่วมวางแนวทางพัฒนาอินเทอร์เน็ตให้สมาชิกถือปฏิบัติ
แต่ไม่มีหน้าที่ดูแลหรือควบคุมการบริหารเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมกันพิจารณานโยบายผ่านองค์กรต่างๆ เช่น Internet Governance Forum (IGF) หรือ The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) เป็นต้น
ในประเทศไทยขับเคลื่อนโดยสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Society Thailand) หรือ ISOC Thailand ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของสถานศึกษาเป็นหลัก เน้นการพัฒนาและปรับปรุงองค์ความรู้ทางด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเครือข่าย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา
แต่ไม่มีส่วนกำหนดในเชิงนโยบาย และสิทธิมนุษย์ชน เนื่องจากภาครัฐบาลและเอกชน เป็นผู้ดำเนินการ
เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ทั้งการใช้งานด้านความปลอดภัย สุขภาพ และพลังงาน การกำหนดทิศทางและมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานภายใต้วัตถุประสงค์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องที่สุด การกำหนดบทบาทของอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญ
หลายประเทศมีการผลักดันและเพิ่มความสำคัญในนโยบายนานาชาติให้โน้มเอียงไปที่ประเทศของตน และความโน้มเอียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายอินเทอร์เน็ตระดับโลก
ด้วยนโยบายของประเทศต่างๆ ที่มีต่อทิศทางของอินเทอร์เน็ตในระดับโลกนี้เอง ทำให้สมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (ISOC Thailand) พยายามผลักดันให้คนไทยมีส่วนร่วมแสดงบทบาทในเวทีโลก
เพื่อให้การเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นพลังคู่ขนานไปกับการเติบโตของจำนวนสมาชิกสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย
คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ สนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสแสดงความคิดเห็นบนเวทีอินเทอร์เน็ตสากลมากขึ้น
ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องรวมพลังกันอีกครั้ง เพื่อให้คนไทยได้เห็นว่าทุกเสียงในฐานะสมาชิก ISOC Thailand ทำให้ไทยมีส่วนร่วมในนโยบายอินเทอร์เน็ตบนเวทีโลกได้อย่างไร
ด้วยรักและห่วงใย สมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (ISOC Thailand)