จะสานต่อ...งานที่พ่อทำ

ข่าวทั่วไป Friday November 11, 2016 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ตัวเลข 4,000 กว่าโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มุ่งสร้างมาตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยอยู่เย็นเป็นสุข ตามคำสัญญา "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และเป็น 4,000 กว่าโครงการ ที่ครอบคลุมในทุก มิติ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า อากาศ เกษตร ประมง หรือแม้แต่งานด้านทำนุบำรุงพระศาสนา และวัฒนธรรม ดังนั้นเราจึงเห็นภาพ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" เดินเข้าไปในป่า ย่ำไปบนดอยสูง ปาดเหงื่อ ลุยน้ำ กรำฝน นั่งบนพื้นทรายเพื่อพบปะพสกนิกรของพระองค์ ผ่านข่าวในพระราชสำนักของทีวีทุกช่อง และรูปที่ "แขวนอยู่ทุกบ้าน" จนชินตา ถึงวันนี้,การสานต่องานที่พ่อทำไว้กว่า 4,000 โครงการ อาจไม่ใช่เรื่องของโครงการหลวง หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ของทุกหน่วยงาน... แต่เรา...จะสานต่ออย่างไร ?? เริ่มที่การสร้างคน การสร้างคนให้รักแผ่นดินถิ่นเกิด การศึกษาในระบบอาจช่วยได้ในมิติของการอ่านออกเขียนได้ เข้าใจงานด้านวิชาการ และศาสตร์อื่น ๆ แต่หากจะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมา "ใส่ใจ" และให้ความสำคัญกับท้องถิ่นที่ตัวเองสังกัดอยู่อาจต้องเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน รู้จักปัญหาของชุมชน และสุดท้ายเขาจะรู้วิธีการนำ "ความรู้ในห้องเรียน" มาช่วยคลี่คลายปัญหาในชุมชนและนอกห้องเรียนอย่างไร ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้เป็นแนวทางการลงพื้นที่คือการทำความ "เข้าใจ" สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน และ "เข้าถึง" สถานการณ์ปัญหา เพื่อหาแนวทาง "พัฒนา" พื้นที่ที่พระองค์เสด็จไปเยือนให้เกิดความยั่งยืน แนวทางดังกล่าว ถูกปรับมาเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เปรียบเสมือน "แบบฝึกหัด" หรือ กระบวนการวิจัยฉบับย่อส่วน ให้กลุ่มยาวชนที่พื้นที่ 4 จังหวัดที่ประกอบด้วย สงขลา สมุทรสงคราม น่าน และศรีษะเกษ ที่เรียกว่า community projectภายใต้โครงการพลังพลเมือง พลังสังคม หรือ Active citizen โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) "เด็กและเยาวชนต้องเห็นตัวเองเป็นสวนหนึ่งของชุมชน ต้องเข้าใจบริบทของสังคมตัวเอง หรือของสังคมไทย หากเยาวชนรู้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เค้าจะไม่ดูดายและลุกขึ้นมาเดือดร้อนกับสถานการณ์ปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของตัวเอง...เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะไห้เด็กเห็นภาพนี้...ซึ่งแนวทางหนึ่งที่มูลนิธิสยามกัมมาจลเชื่อก็คือ คนรุ่นใหม่ หรือเด็กจะมองเห็นภาพรวมของสังคมจริง ๆ ด้วยการลงมือทำ" นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร์ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล อธิบาย เริ่มทำจากจุดเล็ก "ดรีม" นายชัยวัฒน์ ธรรมชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน แผ่นดินที่ฟื้นคืนสู่ความสมบูรณ์ด้วยโครงการพระราชดำริมากมายหลายโครงการ โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดน่าน ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าร่วม Community Project น้องดรีมบอกว่า แม้งานที่ตัวเองทำจะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำให้กับเมืองน่าน แต่สิ่งหนึ่งที่ดรีม และเพื่อน ๆ อีกกว่า 100 ชีวิต คิดว่าทำได้ และเริ่มทำไปบ้างแล้วคือการเป็น "คนดี" ของชุมชน และตั้งใจทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วม "ผมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้องๆ ในจังหวัดน่าน อีกหลายสิบคนก็เริ่มลงมือทำงานเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของชุมชนเท่าที่กำลัง และความรู้ของเราจะทำได้ ตัวผมทำโครงการขยะทองคำเพราะเห็นว่าบ้านเรามีขยะเยอะ ก็เลยชวนน้อง ๆ และเพื่อน ๆ ร่วมกันทำโครงการ และตอนทำโครงการสิ่งที่ผมทำได้ดำเนินตามรอยของพระองค์ท่าน นั่นคือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณ คือ ทุกครั้งที่มีการวางแผนการทำงาน จะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่าที่สุด ใช้อย่างประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่าย เพราะอยากใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด" สำหรับการสานงานต่อจากในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ดรีมบอกว่า นอกจากการเป็นคนดี ช่วยเหลืองานในชุมชน อีกประการที่สำคัญคือสร้างน้อง ๆ รุ่นใหม่ให้มีแนวคิดแบบที่ตัวเองคิด คือการเป็นคนดีของชุมชน และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างไว้ให้.... "นี่คือสิ่งทีพวกเราคิดว่าจะทำเพื่อสานต่องานของพระองค์ท่าน" ส่วน "นุ๊ก" นางสาวปิยธิดา จิตร์ถนอม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี บอกว่าสาขาที่เรียนอยู่ไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยวโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรหรือต้นทุนทางการท่องเที่ยวหนึ่งในนั้นก็คือป่า.. "เรารับรู้ว่างานของในหลวง จะมีเรื่องของป่า..โดยเฉพาะเรื่องการจัดการป่า เพื่อให้เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราจะสานต่อสิ่งที่พระองค์ท่านทำไว้ให้ก็คือ การใช้ความรู้ ความสามารถที่มี และที่ร่ำเรียนมาไปทำประโยชน์ให้เกิดกับป่าในแง่ของการอนุรักษ์ ซึ่งโครงการพาน้องเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พิทักษ์ป่าต้นน้ำเขายอดแดง ที่พวกเราทำอยู่ ก็เป็นการชวนเด็ก ๆ ในชุมชนเข้าไปเรียนรู้เรื่องป่า ทำความเข้าใจว่าป่ามีความสำคัญกับชีวิตอย่างไร" และเมื่อคนรู้จักป่า และเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า ก็จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด...ดังปณิธานของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงริเริ่มไว้ ถึงตอนนี้ มีกลุ่มเยาวชนกว่า 1000 ชีวิตที่พื้นที่ 4 จังหวัดกำลังขะมักเขม้นทำงานเพื่อสานต่องานของ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือร่วมกันผู้ใหญ่ในชุมชนหารูปแบบและแนวอนุรักษ์ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางอ้อมคือการพัฒนาตัวเองในมิติต่าง ๆ ผ่านโครงการที่ทำ เพื่อที่จะยกระดับศักยภาพของตนเองเพื่อรับมือกับงานที่ยาก และซับซ้อนในอนาคต ดังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่บอกว่า.. "เดินทีละก้าว..กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" ก็กลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ