กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2559 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการรวบรวมบทกลอน บทเพลง ถ้อยคำแสดงความอาลัย เพื่อจัดทำจดหมายเหตุแสดงความอาลัยที่ประชาชนมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ กวี และนักเขียนเข้าร่วมประชุมว่า ขณะนี้มีการรวบรวมถ้อยคำแสดงความอาลัยแล้ว 12,568 ข้อความ บทกลอน 417 สำนวน และบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น 110 เพลง ซึ่งในส่วนของบทเพลงที่ประพันธ์จะขอลิขสิทธิ์และรวบรวมไว้ที่หอสมุดเพลง ภายในหอสมุดแห่งชาติ และเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลด นอกจากนี้ ในส่วนของนิทรรศการทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีจุดให้ประชาชนเขียนถ้อยคำแสดงความอาลัย ซึ่งวธ.จะรวบรวมนำมาทำเป็นจดหมายเหตุแสดงความอาลัยด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ได้ขอความร่วมมือศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันคัดเลือกถ้อยคำ บทกลอน และบทเพลงที่ใช้ถ้อยคำถูกต้อง ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจากความเหมาะสม มีความไพเราะ งดงามทางภาษาและสมพระเกียรติ รวมทั้งครอบคลุมพระราชกรณียกิจทุกด้าน เพื่อจัดทำเป็นจดหมายเหตุแสดงความอาลัย อย่างไรก็ตาม ทุกถ้อยคำและทุกคำกลอนแสดงความอาลัยทั้งหมดวธ.จะติดตามและรวบรวมบทกลอนถ้อยคำแสดงความอาลัยของประชาชนและหน่วยงานต่างๆจากสื่อต่างๆ และสื่อโซเซียลมีเดียมารวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนี้ วธ.จะส่งเสริมให้โรงเรียนต่างๆ สอนนักเรียนเรียนรู้เรื่องการเขียนคำกลอนทั้งในรูปแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง
นอกจากนี้ ได้รับรายงานความคืบหน้าการรวบรวมภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว จากประชาชนทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ส่งภาพถ่ายมาแล้วจำนวน 26,242 ภาพ และภาพเคลื่อนไหว 68 คลิป ซึ่ง วธ.จะนำมาจัดทำจดหมายเหตุฉบับประชาชนและจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในส่วนของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รายงานว่าขณะนี้ได้เปิดให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ดาวน์โหลดและแจ้งความประสงค์นำภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจไปเผยแพร่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ซึ่งมีสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ ติดต่อเพื่อนำภาพยนตร์ไปเผยแพร่กว่า 50 แห่ง อย่างไรก็ตามในส่วนภูมิภาค ได้สั่งการให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ประสานหน่วยงานต่างๆ นำภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจจัดฉายภายในจังหวัดเพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงความอาลัยด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุมผู้บริหาร วธ. เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารประจำกระทรวงวัฒนธรรม (I O.Culture) และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ ได้รายงานมีประชาชนใช้บริการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารประจำ วธ. กว่า 40,000 คน และมีผู้เข้าชมนิทรรศการ "ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์" ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กว่า 30,000 คน โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจภาพที่ 146 มากที่สุดซึ่งเป็นภาพที่พสกนิกรหลั่งน้ำตาขณะถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ถ่ายโดย วสันต์ วณิชชากร ส่วนภาพที่ 148 มีประชาชนสนใจเป็นอันดับที่ 2 เป็นภาพที่พสกนิกรพนมมือและถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ถ่ายโดย ปรีดา หวายนำ และอันดับ 3 ภาพที่ 44 ภาพบรรยากาศพสกนิกรร่วมแสดงความอาลัย ถ่ายโดย นวลพรรณ นาคปรีชา