กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--โรช (Roche)
การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานไม่ต้องงดอาหารด้วย HbA1c ลดความหงุดหงิดจากความหิว และสะท้อนถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้ป่วย ช่วยให้ตรวจพบผู้ที่เป็นเบาหวานโดยไม่มีอาการ และให้การรักษาก่อนอาการลุกลามอีกด้วย
จากสถิติล่าสุดของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ในปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 415 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 642 ล้านคนในปี 2583 ในทุก 6 วินาทีมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน
วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก ธีมในปี 2559 คือ Eyes on Diabetes ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยพบว่า 1 ใน 2 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานยังไม่เคยรับการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน การเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกัน หรือชะลอโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง อาทิ เส้นเลือดในสมองแตก ตาบอด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไตวาย
ถ้าไม่เคยมีอาการบ่งชี้โรคเบาหวาน หรือไม่แน่ใจ จะเสียเวลาไปตรวจดีหรือไม่
เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นเพราะการเสียสมดุลของการใช้น้ำตาลในเลือด ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน โดยสามารถพบได้ในทุกวัย สัญญาณเตือนของโรคเบาหวานที่สังเกตได้คือ
• ปัสสาวะเยอะและบ่อย
• กระหายน้ำมาก
• น้ำหนักลด
• อ่อนเพลีย
• สายตาพร่ามัว
หากพบอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีแสดงอาการเหล่านี้เพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลย ดังนั้น จึงควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานด้วยวิธีที่มีความแม่นยำซ้ำทุก 1-3 ปี
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุน การตรวจค่าน้ำตาลสะสม หรือ ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ให้เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานได้
การตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) สามารถตรวจได้ในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หากได้ค่า HbA1c มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% ถือว่าเป็นเบาหวาน ซึ่งวิธีนี้มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ จากเดิมที่ต้องงดอาหารประมาณ 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ และการควบคุมอย่างมีวินัยจะช่วยให้การอยู่อย่างเป็นสุขกับเบาหวานไม่ใช่เรื่องยาก
ตรวจสุขภาพทีไรผลตรวจก็ดีทุกที ยังควรจะไปตรวจจริงหรือ
โดยทั่วไปผู้ที่จะเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ ซึ่งรวมไปถึงผู้ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน บ่อยครั้งจะควบคุมอาหาร ดูแลสุขภาพ และออกกำลังกายก่อนเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อให้ได้ผลการตรวจสุขภาพที่ดี ทำให้ผลตรวจไม่สะท้อนถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้ป่วย
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ ความอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน หรือเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ผู้มีภาวะเสี่ยงควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และหากตรวจพบความเสี่ยง แล้วสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงควบคุมน้ำหนักอย่างมีวินัย ก็จะช่วยป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
การตรวจค่าน้ำตาลสะสม หรือ ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) สามารถวินิจฉัยเบาหวานได้เร็ว สะดวก ไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ ลดความหงุดหงิดจากความหิวและอาการวิงเวียนจากการอดอาหาร ซึ่งภาวะเครียดหรือเจ็บป่วยส่งผลให้ค่าน้ำตาลในเลือดแปรปรวนได้ การตรวจ HbA1c สามารถแสดงค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดในช่วง 8-12 สัปดาห์ที่ผ่านมา และไม่มีผลกระทบจากความแปรปรวนของระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละวัน รวมถึงทราบพฤติกรรมแท้จริงของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แพทย์จึงสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพื่อหยุดเบาหวาน และป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนอันเป็นสาเหตุที่ทำให้พิการและเสียชีวิตได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่สนใจ สามารถเลือกรับการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานด้วยการตรวจค่าน้ำตาลสะสม หรือ ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ตรวจเลือดไม่งดอาหาร ได้ที่โรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป