กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--อย.
กระแสนิยมใช้ยาลดความอ้วนแรง พบผู้บริโภคบางรายใช้ยาอย่างขาดความรู้ ทำให้ได้รับอันตราย อย.จึงได้จัดโครงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์ลดความร้อน เพื่อลดปัญหาการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และสร้างให้ประชาชนมีความรู้นการดูแลตนเองและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ส่วนด้านกรมอนามัยพร้อมลดปัญหาโรคอ้วน โดยควบคุมตั้งแต่วัยเด็ก
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ ในกลุ่มสตรีและวัยรุ่นมักมีค่านิยมต้องการมีรูปร่างผอมเพรียว ทำให้ธุรกิจลดความอ้วนเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสถานเสริมความงาม คลินิกลดความอ้วน การฝังเข็ม การใช้ยาและผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ซึ่งการใช้ยาลดความอ้วนนี้เป็นวิธีที่ประชาชนนิยมใช้มาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดอันตรายได้สูงจากตัวยาและอาการข้างเคียง ทั้งนี้ ยาลดความอ้วนที่นิยมใช้จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 เช่น แอมฟีปราโมน เฟนเทอร์มีน มาซินดอล เป็นต้น มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ลดความอยากอาหารแต่ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตราย คือ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว หากใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดการติดยา และมีรายงานด้วยว่าทั้งแอมฟีปราโมน และเฟนเทอร์มีน ทำให้เกิดโรคจิตได้ด้วย ซึ่งยากลุ่มนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น แต่ปัญหาการใช้อย่างไม่ถูกหลักการแพทย์ก็ยังมีอยู่ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาเฟนฟลูรามีน และเต็กซ์เฟนฟลูรามีน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาไปแล้ว เนื่องจากพบว่ามีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขให้ประชาชนผู้บริโภคที่ใช้ยาลดความอ้วนมีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ใช้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
อย.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต กองการประกอบโรคศิลปะ กองโภชนาการ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย สถาบันวิจัยโภชนาการ สภาวิชาชีพต่างๆ องค์กรเอกชน เป็นต้น จัดให้มี "โครงการรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน" ให้กับกลุ่มวัยรุ่น สตรี ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ผู้มีปัญหาโรคอ้วน รวมทั้งกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของยาและผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ตลอดจนข้อมูลที่ช่วยให้ประชาชนมีร่างกายสมส่วน มีสุขภาพดี โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ และข้อแนะนำทางสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งสปอตโฆษณาและสารคดีทางโทรทัศน์และวิทยุ ข้อมูลความรู้ทางสิ่งพิมพ์อินเตอร์เนต สายด่วนผู้บริโภคกับ อย. แผ่นพับ นิทรรศการ การบรรยายให้ความรู้ตามที่ต่างๆ เป็นต้น โดยเป้าประสงค์ของโครงการนี้มุ่งที่จะลดปัญหาการใช้ยาและผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็เร่งสร้างให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตนเอง และมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมด้วย
ทางด้าน พ.ญ.แสงโสม สินะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาโรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะคนที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ข้ออักเสบ โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น โดยโรคอ้วนที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ส่วนมากมักมีประวัติอ้วนตั้งแต่ในวัยเด็ก และจากผลการศึกษาวิจัยทางด้านโภชนาการของหลายสถาบันระบุว่า เด็กที่อ้วนเมื่ออายุ 6 ขวบขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 25 ส่วนเด็กที่อ้วนเมื่ออายุ 12 ปี จะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากถึงร้อยละ 75 ปัญหาโรคอ้วนจึงไม่ใช่ปัญหาของกลุ่มอายุใดอายุหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ และทุกวัย หากไม่รับแก้ไขจะทำให้เกิดปัญหาสาธารณสุขตามมาได้ในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาภาวะโภชนาการเกินในเด็ก กรมอนามัยและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติจึงได้ร่วมกันดำเนินการควบคุมและป้องกันภาวะโภชนาการเกินเด็กวัยเรียนในเขตเมือง โดยจะมีการค้นหาปัญหา เฝ้าระวังภาวะโภชนาการ การจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางด้านโภชนาการผ่านสื่อต่างๆ การจัดอาหารกลางวันที่เหมาะสมตามวัย ควบคุมการจำหน่ายอาหารที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน น้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยว ตลอดจนการกระตุ้นให้นักเรียนออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับโรงเรียนที่มีเด็กเป็นโรคอ้วนมาก อาจต้องมีการจัดทำค่ายลดน้ำหนัก การรณรงค์กินพอดีไม่มีอ้วน พร้อมทั้งการประชุมผู้ปกครองเด็ก ขอความร่วมมือในการดูแลเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน เพื่อดูแลสุขภาพให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย ไม่เป็นโรคอ้วนจนเกิดปัญหาตามมาในอนาคต--จบ--
-นห-