กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--กทม.
นพ.ประพนธ์ ดำรงวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 43 (มีนบุรี) สำนักอนามัย กทม.แจ้งว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งเมื่อก่อนมักจะพบเป็นมากในกลุ่มเด็ก แต่เดี๋ยวนี้โรคไข้เลือดออกเป็นกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใครเคยเป็นแล้วก็เป็นอีกได้ และเป็นได้ตลอดปี หากใครเป็นไข้เลือดออกซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 จะมีอาการรุนแรง และมีโอกาสถึงตายได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีข่าวเกรียวกราวทางสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับคนป่วยเป็นไข้เลือดออกและตายภายในเวลาเพียง 4 วัน เนื่องจากถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่กัด
ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 (มีนบุรี) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “ศบส.43” เป็นหน่วยงานหนึ่งของกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 เขต คือ เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตหนองจอก ได้ตระหนักถึงปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากสภาพทั่วไปของพื้นที่ทั้ง 3 เขต มีแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จึงส่งผลให้มีสถิติผู้ป่วยสูง ทางศูนย์ฯ 43 ได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับพิษภัยของโรคไข้เลือดออก และแนะนำวิธีการกำจัดลูกน้ำยุงลาย รวมถึงทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่มีอยู่ตามบ้านเรือนในพื้นที่ทั้ง 3 เขตปกครอง ตลอดจนมีการออกพ่นสารเคมีกำจัดตัวยุง ซึ่งการพ่นสารเคมีสามารถกำจัดยุงได้ผลดีแต่ให้ผลในระยะเวลาสั้น ๆ อีกทั้งอาจเป็นพิษต่อคน สัตว์เลี้ยง และอาจก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรใช้เฉพาะ กรณีมีความจำเป็นเท่านั้น เช่น เมื่อมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในบ้าน ชุมชน หรือโรงเรียน หรือมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค
ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 43 กล่าวต่อไปว่า การจะปราบยุงลายให้ได้ผลต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ส่วนวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกและลดจำนวนยุงลายให้ได้ผลดีและยั่งยืนควรปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โรงเรียน และชุมชน ให้สะอาดมีอากาศถ่ายเทสะดวกจะได้ไม่เป็นที่อยู่อาศัยแหล่งเกาะพักของยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องด้วยการปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ทำลาย หรือคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ทุก 7 วัน ตลอดจนการกำจัดลูกน้ำยุง โดยใส่ทรายอะเบทในภาชนะเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิด ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำ อ่างปลูกบัว เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้ ศบส.43 ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำตามชุมชนต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบทุกครัวเรือน จึงขอเตือนมายังพี่น้องประชาชนให้ตื่นตัวและระวังบุคคลในบ้าน เนื่องจากไข้เลือดออกไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น
สำหรับอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูงไม่ลด 2-7 วัน ปวดหัว คลื่นไส้ บางคนจะปวดท้อง แน่นท้อง อาการสำคัญที่แตกต่างจากไข้หวัด คือ ไม่มีน้ำมูกหรือไอ แต่จะปวดหัวและปวดเมื่อตามกล้ามเนื้อมาก หลังจากมีไข้ 2-3 วัน มักจะมีจุดแดงที่ผิวหนัง การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวเพื่อลดไข้ กินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล (ห้ามกินยาแอสไพริน) ดื่มน้ำตาลเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้บ่อย ๆ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระสีดำ โดยเฉพาะระยะที่เป็นไข้ในวันที่ 3 ล่วงไปแล้ว ผู้ดูแลต้องหมั่นดูแลอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดอย่านิ่งนอนใจ เพราะผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมลง ตัวเย็น- กระสับกระส่าย เป็นช่วงที่ร่างกายขาดน้ำมากที่สุด จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการช๊อคหมดสติ และเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อพบอาการผิดปกติ ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
นพ.ประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ยุงลายตัวนิด มีพิษถึงตาย” จึงขอฝากให้ประชาชนทุกท่านช่วยกันรณรงค์กำจัดยุงลายป้องกันภัยร้ายไข้เลือดออก ถ้าชุมชนสะอาด ปราศจากยุงลาย โรคร้ายก็สิ้นสูญ หากพี่น้องประชาชนท่านใดพบผู้ป่วยซึ่งมีอาการในลักษณะข้างต้น หรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 โทรศัพท์หมายเลข 540-7154, 914-5822 และ 540-7334 ได้ทุกวันในเวลาราชการ
อนึ่ง สืบเนื่องจากแนวโน้มการระบาดของไข้เลือดออกจะมีมาก ศบส.43 ได้ดำเนินโครงการรณรงค์บ้าน ชุมชนฯ ในพื้นที่เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา และเขตหนองจอก ปลอดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งจะดำเนินการอย่างตอเนื่อง ให้ครอบคลุมครบทุกพื้นที่โดยประสานการดำเนินการกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ และฝ่ายพัฒนาชุมชนเขต เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่จะกำจัดแหล่งเพาะลูกน้ำยุงในชุมชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การควบคุมโรคเป็นผลสำเร็จ ก่อให้เกิดบ้าน ชุมชนฯ ตัวอย่างปลอดลูกน้ำยุงลายต่อไป--จบ--
-นห-