ไซแมนเทค เผยเทคโนโลยีใหม่ในการป้องกันมาโครไวรัส

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday October 4, 2000 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ไซแมนเทค
ไซแมนเทค ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่อต้านไวรัสชื่อดัง "นอร์ตัน แอนติไวรัส" ได้เผยเทคโนโลยีแบบใหม่ล่าสุดในการป้องกันเครื่องคอมพิวเตอร์จากการติดไวรัสชนิดมาโครไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสประเภทที่อาศัยช่องโหว่จากการทำงานของชุดคำสั่งอัติโนมัติ (มาโคร) ที่มีอยู่ในแทบจะทุกโปรแกรม โดยเฉพาะโปรแกรมในตระกูลออฟฟิศ รวมทั้งเอาต์ลุค ของไมโครซอฟท์
อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีใหม่นี้ไม่ได้มีหลักการอะไรซับซ้อนนัก โดยทางไซแมนเทคเลือกที่จะใช้วิธีการแบบ "กำปั้นทุบดิน" คือ จัดการปิดการทำงานของคำสั่งมาโครบางคำสั่งซึ่งทางบริษัทเห็นว่า เป็นช่องทางที่ผู้เขียนไวรัสจะใช้เล่นงานเครื่องคอมพิวเตอร์เคราะห์ร้ายได้
มาร์ค เคนเนดี หนึ่งในทีมงานของไซแมคเทคอ้างว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์ปลอดภัยจากมาโครไวรัสที่มีอยู่ในปัจจุบันเกือบ 100 % รวมถึงบรรดามาโครไวรัสตัวใหม่ ๆ ที่จะออกมาอาละวาดในอนาคตด้วย
มาโครไวรัสตัวแรกเกิดขึ้นบนโลกเมื่อปี คศ 1995 มันมีชื่อว่า WM/Concept.A และใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์ในการแพร่กระจายตัวเองอย่างรวดเร็ว และถูกขึ้นบัญชีให้เป็นไวรัสอันตราย ในอันดับต้น ๆ อยู่นานเกือบ 18 เดือน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ มีไวรัสใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากว่า 500 สายพันธุ์ โดย 87 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้เป็นไวรัสประเภทมาโครไวรัส และวิธีการรับมือแบบที่โปรแกรมต่อต้านไวรัสทั่ว ๆ ไปใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือการเปรียบเทียบไฟล์ต่าง ๆ กับลักษณะของไวรัส (virus definitions) ที่เก็บเอาไว้ในตัวโปรแกรมนั้นไม่ดีพอ เนื่องจาก มันไม่สามารถจัดการกับไวรัสตัวใหม่ ๆ ที่มันไม่รู้จักได้ ทำให้ผู้ใช้ต้องคอยอัพเดท virus definitions อยู่เสมอ
ดูเหมือนว่า เทคโนโลยีการป้องกันมาโครไวรัสแบบใหม่ของทางไซแมนเทคจะเป็นทางออกที่ดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมบางคนไม่คิดเช่นนั้น เนื่องจาก ภาษาสคริปต์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมทำงานอัตโนมัตินั้นมีมากมายหลายภาษา ซึ่งหมายความว่าคุณจะต้องมีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งสำหรับป้องกันมาโครไวรัสที่เขียนขึ้นโดย VBScript อีกตัวสำหรับไวรัสที่เขียนขึ้นโดยภาษา JavaScript, อีกตัวหนึ่งสำหรับไวรัสที่สร้างจากภาษา Perl ฯลฯ บรรดาผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า แทนที่เราจะหาทางจัดการกับไวรัส ที่ปัจจุบันนี้มีอยู่ราว ๆ กว่า 50,000 ตัว บรรดาผู้ผลิตซอฟต์แวร์ควรจะหาทางลดความเสี่ยงจากการทำงานของมาโครไวรัส หรือไวรัสประเภทอื่น ๆ โดยหันมาใส่ใจด้านระบบรักษาความปลอดภัยในโปรแกรมต่าง ๆ ให้มากขึ้นแทนที่จะไปเน้นที่ลูกเล่นที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ