กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิง สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้จัดการแผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด (ภวส.) ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจ จากการสำรวจในหัวข้อ สงครามยาเสพติดในความคิดเห็นของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไประดับครัวเรือนใน 15 จังหวัดของประเทศได้แก่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ขอนแก่น บึงกาฬ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อยุธยา ลพบุรี นนทบุรี ราชบุรี ชลบุรี สงขลา และ สุราษฎร์ธานีจำนวนทั้งสิ้น 3,725 ตัวอย่าง ระหว่าง เดือน 15 กันยายน – 15 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 เห็นว่าควรยกเลิกการทำสงครามยาเสพติดเพราะไม่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.6 เห็นด้วยต่อการลงโทษทางคดีอาญา เช่น ติดคุก ยึดทรัพย์ กับ ขบวนการค้ายาเสพติด
เมื่อถามว่า ตัวยาตัวใดที่ควรให้ ผู้เสพ ได้รับการ ลดโทษให้เหลือน้อยลง ไม่ต้องโดยโทษทางคดีอาญา ถ้าเสพเพียงอย่างเดียว ผลโพล พบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 61.3 และร้อยละ 60.3 ระบุเป็น กระท่อม และ กัญชา ในขณะที่ร้อยละ 51.7 ระบุเป็น ยาบ้า ที่ผู้เสพอย่างเดียวไม่ทำความผิดอื่น ควรได้รับการลดโทษ ลดเวลาการจำคุก
นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ควรให้กัญชา เป็นพืชที่ปลูกได้ตามกฎหมายหรือไม่ พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 50.9 ระบุเห็นด้วย ถึง เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในขณะที่ร้อยละ 53.7 ระบุเห็นด้วยที่จะให้ กระท่อม เป็นพืชที่ปลูกได้ตามกฎหมาย โดยเห็นด้วย ถึง เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 ระบุคนในชุมชนและสังคม ควรเข้าใจ ยอมรับ และให้โอกาส คนเสพยาเสพติดกลับเป็นคนดีในสังคม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 เห็นด้วยที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางทำให้ผู้เสพยาเสพติดพึ่งพาตัวเองได้ มีพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.7 ระบุควรให้โอกาสผู้เสพยาเสพติด มีเพียงร้อยละ 15.3 เท่านั้นที่เห็นว่าควรผลักดันพวกเขาออกไปนอกชุมชน
ศ.ดร.พญ. สาวิตรี กล่าวว่า จากผลสำรวจนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นควรยุติการทำสงครามยาเสพติดเพราะไม่แก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน แต่ยังเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอาญาเด็ดขาดกับผู้ค้ายาเสพติดโดยแยกแยะบทลงโทษทางอาญาออกจากผู้เสพ และแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืนประการหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ การรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงสาระประโยชน์ของพืชเสพติดบางตัว เช่น กระท่อม และกัญชาที่มีผลดีต่อสุขภาพของประชาชนได้หากใช้ในทางการแพทย์ สอดคล้องกับประชาชนที่เห็นว่าควรมีกฎหมายอนุญาตให้ปลูกพืชกระท่อมได้แต่ควรมีการกำหนดโควต้าที่เหมาะสมต่อสุขภาพของแต่ละคน นอกจากนี้แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการทำสงครามยาเสพติดคือ การใช้มาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการทางการปกครองเป็นมาตรการหลักในการแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มผู้เสพที่น่าจะได้รับการพิจารณาขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อเนื่องต่อไป