กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สนับสนุนการศึกษาสู่การมีงานทำ จับมือ วิทยาลัยการอาชีพปัว และเครือข่ายดรุณสิกขา จัดทำ "หลักสูตรงานอาชีพ" แก่เด็กเยาวชนบนดอยสูง อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตั้งเป้าเปิดให้มีการเรียนการสอนภายในปีการศึกษา 2560
. อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งประชาชนมีฐานะยากจนส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก ทำให้เด็กเยาวชนขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมและชุมชนจึงได้เข้าไปหาแนวทางเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาให้กับครูและนักเรียนบนดอยสูง
" เราพยายามหาแนวทางเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดบนดอยของชาวบ้านในจังหวัดน่าน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าบนเขาสูง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นแม่น้ำน่านที่มีความสำคัญต่อปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพราะปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายจาก 3 แสนไร่เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 8 แสนไร่"
นายสุเมธ ท่านเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงที่มาของการจัดทำหลักสูตรงานอาชีพ ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ว่า " มหาวิทยาลัย กำลังพยายามหาอาชีพอื่นเข้ามาทดแทนการปลูกข้าวโพดแบบยั่งยืน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่การพัฒนาด้านการศึกษาและพัฒนาอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากน่านเป็นพื้นที่ภูเขาสูงติดชายแดน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่มากกว่า 10 ชนเผ่า เด็กๆกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ครอบครัวพ่อแม่พูดภาษาไทยไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก มีฐานะยากจน เด็กถูกเลี้ยงมาในสังคมปิดและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ความท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะฝึกเด็กเหล่านั้นให้มีทักษะอาชีพไปประกอบอาชีพสร้างรายได้แทนการปลูกข้าวโพดโดยไม่ทิ้งถิ่นฐานที่อยู่"
"เราอยากให้เด็กบนดอยสูงเรียนสายอาชีพเพื่อจะได้นำทักษะความรู้ไปประกอบอาชีพแทนการปลูกข้าวโพดแล้วต้องไปบุกรุกป่าเพิ่มอีก จึงสนับสนุนให้โรงเรียนที่อยู่บนดอยจัดหลักสูตรงานอาชีพ 1 โรงเรียน 1 อาชีพ (อย่างน้อย) เพื่อสนับสนุน " การศึกษาสู่การมีงานทำ " โดย มจธ. จับมือกับวิทยาลัยการอาชีพปัว และสนับสนุนให้โรงเรียนในเครือข่ายดรุณสิกขา อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.บ่อเกลือ รวม 7 แห่ง เข้าร่วมจัดทำหลักสูตรงานอาชีพขึ้นในโรงเรียน เพื่อเด็กที่จบสายสามัญหรือชั้นมัธยมปลาย ไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะได้นำทักษะความรู้พื้นฐานอาชีพที่เรียนไปทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่ได้โดยเฉพาะอาชีพช่างด้านต่างๆ อาทิ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ฯลฯ โดยเด็กที่เรียนจบจากหลักสูตรหรือทวิศึกษานี้ก็จะได้รับประกาศนียบัตร 2 ใบ ทั้งใบสำเร็จการศึกษาวุฒิ ม.6 และใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ซึ่งเด็กจะสามารถนำไปสมัครงานได้
สำหรับโครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่งานอาชีพนี้ มี ผศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้จัดกระบวนการบ่มเพาะ สนับสนุน พัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาส ในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ทั้งนี้ ผศ.ดร. ยศพงศ์ และคณะได้เยี่ยมโรงเรียน ประชุมหารือ กับกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2559 เพื่อสร้างความร่วมมือ แสวงหาแนวทางจัดการศึกษาอาชีพ ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพปัว จนนำมาสู่ การเกิดขึ้นของ " เครือข่ายดรุณสิกขา เฉลิมพระเกียรติ – บ่อเกลือ" โครงการมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อวิเคราะห์งานอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทและ และการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรอาชีพ พร้อมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการของเครือข่ายโรงเรียนในจังหวัดน่าน
ผศ.ดร.วรพจน์ อังกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) หนึ่งในทีมผู้ดูแลการจัดทำหลักสูตรงานอาชีพ กล่าวว่า " โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงหลักสูตรสำหรับจัดการเรียนรู้งานอาชีพเดิมของแต่ละโรงเรียนและเพื่อสร้างหลักสูตรสำหรับการจัดการเรียนรู้อาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยวิทยาลัยการอาชีพปัวเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนเครือข่ายดรุณสิกขาทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านสว้า , โรงเรียนบ้านขุนน้ำน่าน , โรงเรียนบ้านบ่อหยวก , โรงเรียนบ้านสบมาง , โรงเรียนบ้านบ่อหลวง , โรงเรียนมัธยมบ่อเกลือ และ โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ โดย มจธ.เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงาน ประสาน ติดตามความคืบหน้าโครงการ และสนับสนุนทางด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ รวมถึงการจัดหาทุนสนับสนุน เช่น เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้นำคณะครูจากเครือข่ายดรุณสิขาไปศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรงานอาชีพหรือทวิศึกษาที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแนวทางให้กับเครือข่ายฯ นำไปดำเนินการปรับเปลี่ยนบทบทการเรียนการสอนและหาแนวทางจัดทำหลักสูตรงานอาชีพตามบริบทของโรงเรียน โดยตั้งเป้าให้โรงเรียนเปิดสอนภายในปีการศึกษาหน้าเริ่มเดือนมิถุนายน 2560
นอกจากนี้ มจธ.ยังสนับสนุนการเปิดหลักสูตรใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ของวิทยาลัยการอาชีพปัว ณ ศูนย์บ้านบ่อหยวก เพื่อรองรับเด็กที่จบม.3 ได้เข้ามาเรียนต่อในสายอาชีพหรือเด็กที่ยังเรียนอยู่ก็สามารถเข้าเรียนได้ โดยไม่ต้องเดินทางลงจากเขาเข้ามาในตัวเมืองซึ่งมีระยะทางไกล โดย มจธ.จะช่วยในการจัดหาทุนสนับสนุนให้แก่เด็กเป็นค่าเดินทางและค่าอาหาร ณ ศูนย์บ้านบ่อหยวก พร้อมกับสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการศึกษาให้กับครูวิทยาลัยการอาชีพปัวให้มีศักยภาพสูงขึ้น ล่าสุด มจธ.ได้นำคณะครูวิทยาลัยการอาชีพปัวเดินทางมาศึกษาดูงานของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) เพื่อให้ครูเกิดกระบวนการเรียนรู้และวิธีสอนในรูปแบบใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ตลอดจนให้เกิดการเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเพิ่มศักยภาพด้านช่าง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยคณะครูฯ ให้ความสนใจเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และการสร้างหุ่นยนต์ เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อวิทยาลัยการอาชีพปัวจะได้นำความรู้กลับไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนต่อไป