กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--กรมปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์ผลักดันการสร้างมาตรฐานตรวจสอบ การควบคุมการเลี้ยง และการใช้ยาสัตว์ของเกษตรกร อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารและความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์แก่ผู้บริโภค แนะเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตมาตรฐาน สังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์OK"
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ ให้ความสำคัญกับการสร้างอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค โดยร่วมกับผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งเน้นการดูแลและควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค ดูแลคุณภาพอาหารสัตว์ รวมถึงการพัฒนาโรงฆ่าชำแหละที่ถูกกฎหมายได้รับใบอนุญาตและได้มาตรฐานสุขอนามัย จนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ดี ทำให้สามารถสร้างอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด และเร่งสร้างมาตรฐานการจำหน่ายเนื้อสัตว์แก่ร้านค้า เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานเนื้อสัตว์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
"กรมปศุสัตว์พัฒนาระบบฟาร์มมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้สามารถควบคุมทั้งกระบวนการเลี้ยงสัตว์ และจำกัดการใช้ยาเท่าที่จำเป็นภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสัตว์ทั้งก่อนและหลังฆ่าชำแหละ ที่ต้องปลอดภัยจากสารตกค้างต่างๆ จึงรับรองให้นำเนื้อสัตว์ดังกล่าวออกมาจำหน่ายได้ เพื่อป้องกันยาสัตว์ตกค้าง และลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ" นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวย้ำว่า กรมปศุสัตว์มีข้อกำหนดที่เข้มงวดทั้งในกรณีการใช้วัคซีน ยาต้านจุลชีพ และสารเคมีใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการตกค้างในผลิตภัณฑ์ โดยเกษตรกรต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์เท่านั้น และต้องมีระยะหยุดการใช้ยาและสารเคมีต่างๆ ก่อนการเข้าโรงฆ่า ตามข้อกำหนดของชนิดยาและตามที่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มกำหนด ที่สำคัญต้องมีวิธีปฏิบัติงานในการควบคุมเข็มฉีดยาที่อาจค้างอยู่ในตัวสัตว์ เช่น ควบคุมการเบิกจ่ายเข็มฉีดยา ตรวจสอบจำนวนเข็มก่อนใช้และหลังใช้ให้สอดคล้อง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารให้กับผู้บริโภค
"ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ที่มีการดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาตรฐาน ผ่านการชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่รับอนุญาต สถานที่จำหน่ายสะอาดถูกสุขลักษณะ พร้อมส่งเสริมให้ผู้ค้าเก็บเนื้อสัตว์รอการจำหน่ายไว้ในตู้แช่เย็น เพื่อคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าได้รับเนื้อสัตว์คุณภาพ ปลอดภัยจากสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับได้" โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าว
ทั้งนี้ มาตรฐาน GAP กำหนดให้ฟาร์มเลี้ยงหมูต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม เป็นผู้ดูแลสุขภาพสัตว์ โดยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดโรคสัตว์ และมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9032 รวมถึงมีข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์ พร้อมบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยและรักษาโรคเพื่อสามารถ นำมาเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบการใช้ยาสัตว์ในฟาร์ม หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ได้ จะไม่ได้การรับรองมาตรฐานฟาร์ม หรือหากฟาร์มที่ได้รับการรับรองแล้วแต่พบปัญหา กรมฯจะพักใช้หรือเพิ่กถอนใบรับรองมาตรฐานฟาร์มทันที