กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล
"ป่าตาจู" ป่าซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชสมุนไพรนานาชนิด แต่ปัจจุบันพืชสมุนไพรในป่าแห่งนี้เริ่มลดน้อยและหายากขึ้นทุกที อีกทั้งคนในชุมชนก็นิยมหันไปใช้ยาสามัญประจำบ้านในการรักษาอาการเจ็บป่วยมากกว่าการใช้พืชสมุนไพรท้องถิ่น ดังนั้น เยาวชนจากบ้านกันทรอมใต้ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ จึงเล็งเห็นคุณค่าการฟื้นฟูความรู้เรื่องสมุนไพรในการรักษาโรค ตามภูมิปัญาดั้งเดิมของชุมชนกันทรอม เพื่อให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป
บริเวณพื้นที่กว่า 500 กิโลเมตร บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีถึงจังหวัดสระแก้ว ยังมีพื้นป่าต้นน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในพื้นที่ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ นั่นคือ "ป่าตาจูและป่าเจ้าแวะ" ซึ่งเป็นป่าสงวนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่ชาวบ้านก็ได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปหาพืช ผัก สมุนไพรจากพื้นที่บางส่วนของป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงนับว่า ป่าแห่งนี้ คือ แหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน….
เมื่อคนบ้านกันทรอมใต้อยู่ใกล้ป่า….จึงเป็นโอกาสดีที่คนในชุมชนจะได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นถิ่นของชุมชน พืชใกล้ตัวที่คนในปัจจุบันหันหลังให้เมื่อยามเจ็บป่วย ทำให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งในชุมชนบ้านกันทรอมใต้ ประกอบด้วย ทิพย์-ธารทิพย์ มนตรีวงษ์ / จีน-สินิษา ศรีสุภาพ / เวฟ-นันทวัฒน์ เลิศศรี และ ฝน-สุภัทรา สามศร จึงรวมตัวกันทำโครงการสมุนไพรไปร่ตาจู สร้างความรู้สู่ชุมชนกันทรอมใต้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 ดำเนินงานโดย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจ.ศรีสะเกษ สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน ร่วมด้วย สสส. เพื่อฟื้นคุณค่าของสมุนไพรพื้นถิ่นกลับคืนชุมชนอีกครั้ง
ทั้งนี้ผลการวิจัยทางการแพทย์พบว่าภูมิปัญญาด้านสมุนไพรไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจและได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่ามีสรรพคุณทางยา ที่ช่วยป้องกัน บรรเทา และช่วยรักษาโรค ที่สำคัญสามารถนำมาใช้รักษาควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ เมื่อเห็นว่าสมุนไพรมีประโยชน์ ทั้ง 4 หนุ่มสาวก็ยิ่งให้ความสนใจ จึงวางเป้าหมายของการทำโครงการไว้สองระดับ คือ ระดับต้น เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาในการนำสมุนไพรมาทำเป็นยารักษาโรค ส่วนระดับที่สอง เพื่อสืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำสมุนไพร ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้แก่เด็กและเยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชน
เริ่มวางแผนเรียนรู้สมุนไพรจากผู้รู้ในชุมชน….แรกเริ่มโครงการ ทีมงานได้ทำการประเมินความรู้เดิมเกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งพบว่าสมาชิกทุกคนในทีมมีความรู้เรื่องสมุนไพรน้อยมาก พวกเขาจึงต้อง"เติม"ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ โดยการรวบรวมข้อมูลเรื่องสมุนไพรจากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน….
"พวกเรารู้แค่ว่าพืชสมุนไพรมีสรรพคุณรักษาได้ แต่ไม่รู้จักชนิด และไม่เคยใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรมาก่อนเลย" ทิพย์ กล่าว
เมื่อไม่รู้เรื่องสมุนไพรมากนัก สมาชิกทั้ง 4 จึงไปขอคำแนะนำจากรังสรรค์ โพธิสาร นักวิจัยท้องถิ่นตำบลกันทรอม รวมทั้งขอให้เขามาเป็นพี่เลี้ยงในการทำโครงการอีกด้วย
"เนื่องจากพี่รังสรรค์เป็นคนพื้นเพเดิมของชุมชนนี้ เลยทำให้รู้จักมักคุ้นกับหมอยาและผู้รู้เรื่องสมุนไพรในชุมชนอยู่บ้าง จึงขอให้เขามาช่วยประสานงานนัดหมายผู้รู้ให้ในช่วงแรก" ทิพย์ เล่า
รังสรรค์ กล่าวว่า "พื้นที่ป่าชุมชน ทั้งป่าตาจูและป่าเจ้าแวะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีพืชสมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก ชุมชนนี้เลยมผู้รู้เรื่องสมุนไพรอยู่พอสมควร หลายครั้งมีชาวบ้านจากชุมชนอื่นเข้ามาจ้างผู้รู้เรื่องสมุนไพรบ้านกัน ทรอมให้ช่วยหาสมุนไพรใส่กระสอบเพื่อนำไปผสมทำยา แต่น่าเสียดายว่า ภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรเป็นความรู้อยู่ที่ตัวบุคคล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูงวัย การที่น้องๆเยาวชนมาทำเรื่องนี้ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน"
ส่วนสัมฤทธิ์ พานจันทร์ ผู้รู้ในชุมชน บอกว่า เขาศึกษาความรู้เรื่องสมุนไพรมา 12 ปี เพื่อรักษาโรคเนื้องอกในมดลูกให้ภรรยาจนหายขาด ช่วงแรกที่เด็กๆมาสอบถามข้อมูลก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำเรื่องนี้จริงจังหรือเปล่า แต่ก็ยินดีที่จะช่วย เพราะคิดว่าเมื่อเรามีความรู้ ก็น่าจะส่งต่อให้ความรู้เด็กๆไป ย่อมดีกว่าเก็บงำไว้กับตัวเอง
การเข้าป่าสำรวจพืชสมุนไพรทำให้เยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้สมุนไพรอย่างใกล้ชิด….
การเก็บข้อมูลช่วงแรกแกนนำเยาวชนทั้ง 4 คน พาผู้รู้เดินสำรวจแนะนำพืชสมุนไพรในป่าร่วมกับเยาวชน เพราะอยากทำความรู้จักและเก็บข้อมูลพืชสมุนไพรให้เห็นกับตา ดังนั้น การเดินทางเข้าป่าสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลสมุนไพรครั้งแรกที่ป่าตาจู กลุ่มแกนนำเยาวชนประกาศเชิญชวนเพื่อนสมาชิกผ่านเฟสบุ๊กแบบกลุ่ม ซึ่งมีจำนวนผู้ร่วมสำรวจประมาณ 10 คน การลงไปเรียนรู้ในห้องเรียนสมุนไพรธรรมชาติทำให้กลุ่มเยาวชนได้รู้จักชื่อ วิธีการใช้ และสรรพคุณของสมุนไพรที่มีมากกว่า 30 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักเสี้ยนผี ต้นขี้เหล็ก ต้นแมงลักที่มีสรรพคุณช่วยแก้โรคไมเกรน เป็นต้น
"เมื่อก่อนถ้าจะเข้าป่า ก็แค่ขึ้นไปเที่ยวเล่นเท่านั้น ไม่เคยใส่ใจว่าป่าที่ใกล้บ้าน จะมีอะไร สำคัญอย่างไร แต่ตอนนี้เราตั้งใจขึ้นไปทำความรู้จักพืชและสมุนไพรในป่า เพื่อฟื้นฟูความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมคืนชุมชน ไม่ใช่แค่การไปเล่นสนุกๆเหมือนที่ผ่านมา…" เวฟ สะท้อน
"ตอนเข้าไปสำรวจป่า เราต่างแบ่งหน้าที่กันว่าใครเป็นคนจดบันทึก ใครถ่ายรูป เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องนำข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอพร้อมภาพประกอบ" ฝน กล่าว
ฝนบอกต่ออีกว่า การที่กลุ่มเยาวชนได้รู้จักสมุนไพรที่อยู่รอบตัว มันมีประโยชน์มาก เพราะอย่างน้อยความรู้เรื่องสรรพคุณของสมุนไพร สามารถนำมาดูแลตัวเองได้เมื่อเวลาที่เป็นแผล หรือเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ก็เลยคิดว่าพวกเราต้องศึกษา เก็บข้อมูลและเผยแพร่คุณประโยชน์ของสมุนไพรให้ได้มากที่สุด
นอกจากเดินสำรวจศึกษาสมุนไพรในป่าแล้ว พวกเขายังได้สัมภาษณ์ผู้รู้เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม…
"การสำรวจครั้งที่ 2 ในป่าเจ้าแวะ นอกจากทีมงานได้สำรวจพืชสมุนไพรแล้ว ยังทดลองนำพืชสมุนไพรจากป่ามาขยายพันธุ์ และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกตามบ้านเรือนของตนเอง เพื่อจะได้เป็นการอนุรักษ์สมุนไพรบางชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเลือกใช้พื้นที่บริเวณวัดเป็นแปลงปลูกสมุนไพรเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของคนในชุมชนอีกด้วย" เวฟ กล่าว
เข้าใจคุณค่าทรัพยากรชุมชน…ผลจากการสำรวจป่าเพื่อเก็บข้อมูลพืชสมุนไพร และการลงพื้นที่เยี่ยมผู้รู้ถึงบ้าน ทำให้ทีมงานได้รู้ ได้เห็นและเข้าใจถึงคุณประโยชน์และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน...ทำให้กลุ่มเยาวชนไม่คิดปล่อยให้ภูมิปัญญาเรื่องพืชสมุนไพรที่ได้เรียนรู้ผ่านเลยไป พวกเขาจึงจัดเวทีนำเสนอข้อมูลการศึกษาสมุนไพรและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สูตรยาสมุนไพรกับหมอยาและผู้รู้ในชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชน และผู้ใหญ่ในพื้นที่
"เราเลือกวันที่แกนนำเยาวชนว่างพร้อมกัน และใช้วิธีประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก พร้อมทั้งประกาศไว้ในเฟสบุ๊ก ตอนนั้นมีคนเข้าร่วมเวทีประมาณ 40 คน" เวฟ กล่าว
"พวกเราไม่ได้ตั้งตนเป็นผู้รู้ แค่ตั้งใจมาคืนข้อมูลให้แก่คนในชุมชน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ใหญ่ที่มารับฟัง ซึ่งในวันนั้นทุกคนที่มาต่างก็ให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งน้องๆหลายคนเข้ามาย้ำว่าหากมีกิจกรรมครั้งต่อไปให้ชวนพวกเขาไปด้วย " ทิพย์ เสริม
ความรู้ที่ได้เกิดจากการลงมือทำ… "เริ่มต้นเราตั้งใจไปสำรวจพืชสมุนไพรในการนำมาเป็นข้อมูลให้ชุมชน แต่ภายหลังทำให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมไปอีกว่า ป่าตาจูเป็นป่าต้นน้ำ ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่มีป่าและไม่มีฝนตกลงมา สมุนไพรที่เรานำมาปลูกก็คงไม่รอด" ทิพย์ กล่าวเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ ขณะที่ลุงคาร มนตรีวงษ์ ผู้รู้เรื่องสมุนไพรและอดีตผู้ใหญ่บ้านกันทรอมใต้ หมู่ 4 บอกว่า "การที่เยาวชนในชุมชนหันมาสนใจสืบค้นภูมิปัญญาเกี่ยวกับการนำพืชสมุนไพรมาทำยา ตนเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานในอนาคต การบอกต่อเพื่อเป็นความรู้ว่าสมุนไพรที่อยู่รอบๆตัวมีสรรพคุณอย่างไร ใช้รักษาโรคอะไรหรือสามารถใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันชนิดใดได้บ้าง ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ดีกว่าในตำรา เพราะเป็นความรู้ที่ได้จากพื้นที่จริง ที่เกิดจากการได้ปฏิบัติจริง
ทางด้านรังสรรค์ เสริมต่อว่า "ป่าแห่งนี้อยู่คู่กับชุมชนมาเนิ่นนาน แต่ผู้คนส่วนใหญ่เพียงผ่านมาและก็ผ่านไป ถึงตอนนี้โครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษได้สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนลงพื้นที่เพื่อไปสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชนด้วยตนเอง ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้น นอกจากจะทำให้ทีมงานรู้จักพืชสมุนไพรพื้นถิ่นที่มีอย่างหลากหลายแล้ว ผลพลอยได้นอกเหนือจากเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือ การมองเห็นคุณค่าของพืชสมุนไพรที่ถูกลืม และใกล้ที่จะสูญหาย รวมทั้งการมองเห็นความเชื่อมโยงกันของธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า และมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงแม้วันนี้คนในชุมชนยังไม่ได้นำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมารักษาอาการเจ็บป่วยทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นเยาวชนต่างก็ลุกขึ้นมาช่วยกันฟื้นคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีแต่เก่าก่อนกลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง ซึ่งเชื่อแน่ว่าห้องยาชุมชนจะกลับคืนสู่บ้านกันทรอมใต้และจะไม่สูญหายไปอย่างแน่นอน