กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
ประวัติเมืองธัญญบูรี
ย้อนหลังไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือกรุงเทพไปจรดแม่น้ำนครนายก เป็นที่ราบกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยสัตว์ป่าใหญ่น้อย… ไปจนถึงโขลงช้างป่ามากมาย แผ่นดิน…ที่ยังไม่มีใครบุกเบิก ที่เรียกขานกันว่า …ทุ่งหลวง ครั้งกระโน้น ที่การติดต่อค้าขายระหว่างสยามประเทศและชาติตะวันตกเริ่มรุ่งเรือง เฟื่องฟู การค้าข้าว เริ่มเป็นรายได้หลักนำเงินตราเข้าประเทศ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เคยมีพระราชดำรัสว่า "…การขุดคลองเพื่อจะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัยแลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักรเป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น…"นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงรับสั่งกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์ในพระองค์และอัครราชทูตพิเศษไว้ว่า "….ในพระราชอาณาจักรสยามนี้ คลองเป็นสิ่งสำคัญ ในปีหนึ่งควรให้ได้มีคลองขึ้นสักสายหนึ่ง จะทำให้บ้านเมืองเจริญ ถึงจะออกพระราชทรัพย์ปีละพันชั่ง หรือสองพันชั่งก็ไม่ทรงเสียดาย…"
เพื่อสนองพระราชดำริ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ จึงได้ทรงปรึกษากับสถาปนิกชาวฝรั่งเศส…รวบรวมพวกพ้องที่มีทุนทรัพย์ ก่อตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม วางแผนขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบ้านถั่ว ใต้เกาะใหญ่ ปทุมธานี ไปออกแม่น้ำนครนายก บริเวณเมืองนครนายก
การขุดคลองรังสิตนี้ ถือเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม โดยรัฐบาลลงทุนเป็นที่ดิน บริษัทฯ ลงทุนในการขุดคลองผลตอบแทนที่บริษัทได้ คือ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน เว้นจากแนวคลอง ๑ เส้น ไปเป็นระยะ ๔๐ เส้น ทั้งสองฝั่ง สำหรับคลองกว้าง ๘ วา ถ้าคลองกว้าง ๖ วา จะได้กรรมสิทธิ์ ๓๐ เส้น คลองกว้าง ๔ วา ได้ ๒๕ เส้น ส่วนที่ดินที่เว้นไว้ ๑ เส้น สองฝั่งคลองนั้นถือเป็นทรัพย์แผ่นดิน ไว้ใช้ทำถนนหนทาง และให้ผู้อาศัยใช้ทำท่าน้ำ
ชื่อคลอง "รังสิตประยูรศักดิ์" เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระราชโอรสในเจ้าจอมมารดาเนื่อง สนิทวงศ์ ซึ่งเป็นธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ถือเป็นสายสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงระหว่างรัชกาลที่ ๕ และพระองค์เจ้าสายฯ ผู้ก่อตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม
การตั้งถิ่นฐานและการขยายตัวสู่ชุมชนเมือง
ในระยะก่อนที่จะมีคลองขุดเข้าไปในเขตทุ่งหลวงรังสิต ปรากฏว่า มีคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่บ้างแล้ว ในลักษณะที่กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ดังที่พระยาอนุมานราชธนบรรยายไว้ว่า บ้านที่สร้างขึ้นในเขตนี้จะต้องถมดินขึ้นเป็นโคกกลางทุ่งนา ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม เต็มไปด้วยหนองบึงและการระบายน้ำไม่ดี แต่เมื่อมีการขุดคลอง การตั้งบ้านเรือนจะทำได้ง่ายขึ้น คือ สร้างบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งคลอง ซึ่งคันคลองสามารถจะกั้นน้ำเอาไว้ได้ แต่ส่วนใหญ่บ้านก็ยังกระจัดกระจายอยู่ห่างๆกัน
ต่อมาเมื่อบริษัทเริ่มขุดคลองเข้าไป คนก็เริ่มอพยพเข้าไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้เพราะไม่สามารถเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตคลองแสนแสบ และคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานจนเต็มล้นแล้ว ในที่สุดเมื่อบริษัทขุดคลองรังสิต คลองแยก และคลองซอยเสร็จเป็นส่วนใหญ่ (ขุดเสร็จทั้ง ๔๓ คลองใน พ.ศ. ๒๔๔๗) ก็ทำให้บริเวณนี้มีน้ำบริบูรณ์ทุกฤดูกาล ราษฎรก็ได้อาศัยน้ำในการทำนา นับเป็นการขยายพื้นที่ทำนามากขึ้น และยังได้ใช้คลองต่างๆ เป็นเส้นทางไปมาค้าขายได้สะดวกตลอดเวลา ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยในทุ่งหลวงรังสิตทวีจำนวนมากขึ้นกลายเป็นชุมชนที่มีความเจริญทั้งในด้านการทำนาและค้าขาย ดังนั้นในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดฯ ให้จัดการปกครองในเขตทุ่งหลวงนี้ใหม่โดยตั้งขึ้นเป็นเมืองพระราชทานนามว่า "ธัญบุรี" แปลว่า "เมืองข้าว" คู่กับเมือง "มีนบุรี" ซึ่งแปลว่า "เมืองปลา" อยู่ในเขตคลองแสนแสบทางตอนล่าง โดยกำหนดเขตของเมืองคือ ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ทางรถไฟสายนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกจนถึงคลองซอยที่ ๑๔ ฝั่งตะวันออกจดแขวงเมืองนครนายกและฉะเชิงเทรา ทิศเหนือตั้งแต่คลองหกวาสายบน ฝั่งใต้เขตพระนครศรีอยุธยาและเมืองสระบุรี ลงมาทางทิศใต้ห่างจากคลองหกวาสายล่างออกไป ๔๐ เส้น ตามเขตที่นาริมคลองหกวาฝั่งใต้จดแนวเขตกรุงเทพฯ และเมืองมีนบุรี
เมืองธัญบุรีแบ่งออกเป็น ๔ อำเภอ คือ
๑. อำเภอเมือง เริ่มตั้งแต่ทางรถไฟสายนครราชสีมา ตลอดไปจนถึงคลองซอยที่ ๑๔ พรมแดนเมืองนครนายก และตามลำคลองรังสิตยื่นขึ้นไปข้างฝั่งเหนือภายใน ๔๑ เส้น กับยื่นลงไปข้างฝั่งใต้ภายใน ๘๑ เส้น ที่ว่าการอำเภออยู่ที่คลองซอยที่ ๖ ใกล้ศาลาว่าการเมือง
๒. อำเภอคลองหลวง ตั้งแต่เขตอำเภอเมืองด้านเหนือขึ้นไปจดคลองบางหลวงเชียงรากน้อย พรมแดนกรุงเก่า ยาวไปตามลำคลองหกวาสายบนถึงคลองซอยที่ ๗ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่คลองซอยที่ ๒ ฝั่งตะวันออกตรงทางแยกไปลำอ้ายเลียบ และคลองบางหลวงเชียงราก
๓. อำเภอหนองเสือ ตั้งแต่คลองซอยที่ ๗ แห่งคลองหกวาสายบนต่อเขตอำเภอคลองหลวง ไปจดซอยที่ ๑๔ ฝั่งเหนือ พรมแดนเมืองนครนายก และตั้งแต่คลองหกวาสายบน พรมแดนเมืองสระบุรี มาจนจดหลักเขตอำเภอเมือง
๔. อำเภอลำลูกกา ตั้งแต่ลำสมอกง ทางรถไฟนครราชสีมาพรมแดนเมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และตั้งแต่พ้นคลองหกวาสายล่าง ๔๐ เส้น พรมแดนกรุงเทพและเมืองมีนบุรีขึ้นมา จนจดแนวเขตอำเภอเมือง ฝั่งใต้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่คลองซอยที่ ๗ ฝั่งตะวันออกแห่งคลองหกวาสายล่าง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นายพันโทพระฤทธิจักรกำจรราชองครักษ์ประจำการเป็นผู้ว่าราชการเมืองคนแรก จะเห็นได้ว่ารังสิตจากสภาพที่เป็นทุ่งหลวงป่ารกชัฎ ไม่มีแม่น้ำลำคลองและมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างเบาบางได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองหลังจากที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามดำเนินโครงการรังสิตได้เพียง ๑๑ ปี ยิ่งกว่านั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่อเมืองธัญบุรีที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มาก พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกระทำพิธีเปิดศาลากลางหรือศาลาว่าการเมืองที่คลองรังสิตฝั่งเหนือตรงคลองซอยที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ พร้อมกับเสด็จกระทำพิธีฝังลูกนิมิตที่วัดมูลนิธิจินดารามด้วย
สายน้ำ…ไปถึงไหน...ชีวิต…ก็ไปถึงนั่น…โอกาสใหม่ของผู้รักความเป็นไท ก็ติดตามสายน้ำไปบุกเบิกเรือกสวนไร่นา จนทุ่งรังสิตกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย และเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งจากนครนายกมาถึงกรุงเทพฯ ชาวนาที่เข้าไปจับจองที่ดินในบริเวณทุ่งรังสิตระยะแรก ๆ ยังไม่ประสบปัญหาเดือดร้อนในเรื่องความเป็นอยู่เนื่องจากที่ดินที่หักร้างถางพงใหม่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะในการเพาะปลูก คลองที่ขุดใหม่ก็ช่วยเสริมให้การทำนาได้ผลดีกับทั้งยังใช้เป็นเส้นทางในการคมนาคมขนส่งด้วย นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายประเภทต้นทุนในการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ชาวนาสามารถผลิตข้าวได้มากโดยเสียค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุนน้อย ประกอบกับข้าวยังขายได้ราคาดี จึงทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ในขั้นดี นอกจากนี้ได้มีความพยายามส่งเสริมการเพาะปลูกเข้ามาใช้ ทั้งโดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม รัฐบาล และเอกชน ที่สำคัญคือการนำเอาเครื่องจักรสำหรับการทำมาเข้ามาทดลองใช้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในขั้นของการทดลองเท่านั้น ยังมิได้แพร่หลายไปถึงราษฎรโดยทั่วไป ยังมีการตั้งสถานีทดลองพันธุ์ข้าวเพื่อหาพันธุ์ที่ดีมาแนะนำให้ราษฎรปลูก และรัฐบาลยังมีการจัดประกวดพันธุ์ข้าวเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม โดยเริ่มจัดประกวดครั้งแรกที่เมืองธัญบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ จุดมุ่งหมาย คือ ให้ชาวนารู้จักคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ดีมาปลูก ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวนาส่งข้าวเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมากกว่า ๓๐๐ ราย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔ และ พ.ศ. ๒๔๕๕ รัฐบาลได้จัดประกวดพันธุ์ข้าวอีกที่กรุงเทพฯ โดยให้มีการนำเอาข้าวจากเมืองอื่นๆ มาประกวดด้วย ปรากฏว่าข้าวจากทุ่งหลวงรังสิตได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าวพันธุ์ดี โดยได้รับรางวัลที่ ๑ ทั้งสองครั้ง
คุณูปการจากการขุดคลองรังสิตนั้น ทำให้ทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งได้รับการพัฒนาที่ดิน จนกระทั่งเปลี่ยนสภาพจากป่ารกชัฎกลายเป็นชุมชนเมืองซึ่งมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยใช้เวลาร่วม ๑ ศตวรรษ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองซอย และคลองแยกหลายสาย อันนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานของประชากร จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นเมืองธัญบุรีในเวลาเพียง ๑๑ ปี นับจากการเริ่มตั้งชุมชน แม้ว่าต่อมาอีกประมาณ ๓๐ปี เมืองธัญบุรีจะถูกยุบฐานะลงเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี แต่ "ทุ่งหลวงรังสิต" หรือปัจจุบันเรียกว่า "รังสิต" ก็มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งกลายเป็นศูนย์กลางทางพาณิชยกรรมที่สำคัญของปริมณฑลทางเหนือของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอีกโดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ในขณะเดียวกันด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมก็จะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการพัฒนาที่ดินเป็นบ้านจัดสรรเพื่อสนองตอบความต้องการของจำนวนประชากรที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในชุมชนแห่งนี้ การที่ "รังสิต" มีการขยายตัวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในอดีตและปัจจุบันก็เพราะปัจจัยสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะพื้นที่ดินซึ่งยังมีอีกมาก และราคายังไม่แพงเกินไป การคมนาคมขนส่งที่เข้าสู่กรุงเทพฯ เมืองหลวงได้ง่าย และยังเป็นประตูเปิดสู่ภาคเหนือ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการตั้งอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ต่างประเทศด้วย นิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีสภาพแวดล้อมดีพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับเขตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ความพร้อมของแรงงานและผู้ประกอบการ ความสะดวกของสาธารณูปโภค และการสาธารณสุข เป็นต้น ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้พื้นที่รังสิตมีความเจริญเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
กิจกรรม เฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๐๐ เมืองธัญญบูรี
"หยั่งราก ฝากใบ…ในสายน้ำของพ่อ"
การจัดงาน เฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๐๐ เมืองธัญญบูรี จะจัดให้มีขึ้นในปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕ โดยจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี ระหว่างวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๔ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๕
๑. เดือนมีนาคม จัดงาน "หยั่งราก ฝากใบ…ในสายน้ำของพ่อ"
โดยเป็นรูปแบบงานรื่นเริง อบอุ่น เป็นกันเอง ในบรรยากาศแบบไทย ๆ มีการออกร้านของดีเมืองธัญญบูรี และปทุมธานี มีการแสดงแสง สี เสียง (Light & Sound) อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ทั้งระบบ แสง สี เสียง อย่างเต็มรูปแบบ โดยเนื้อหาจะเป็นการกล่าวสดุดีถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองรังสิต จวบจนกระทั่ง ขุดคลองแล้วเสร็จ ถ่ายทอดให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความเจริญของทุ่งรังสิต และเมืองธัญญบูรี อันเป็นผลจากพระวิสัยทัศน์ของพ่อหลวง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการสืบสานเจตนารมย์ และการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ไทย
๒. เดือนมิถุนายน จัดให้มีงาน "ประเพณีข้าว" ร่องรอยจากอดีต..สู่ปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับข้าว เพื่อความเป็นสิริมงคล แสดงถึงความรุ่งเรือง และวิสัยทัศน์ของธุรกิจการค้าข้าวของชาวธัญญบูรี ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากข้าว
๓. เดือนสิงหาคม จัดให้มีการประกวดเทคโนโลยีในการดูแลคลอง และตลิ่งรังสิต โดยจะให้นักศึกษาในพื้นของจังหวัดปทุมธานี ที่ร่วมกันคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ แผนงาน หรือวิธีการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาคลองรังสิต
๔. เดือนตุลาคม ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จัดงานประเพณีแข่งเรือ และลอยกระทงกลางน้ำ รูปแบบ ประเพณี การละเล่น การระลึกถึงบุญคุณและขอขมาสายน้ำในหลากหลายรูปแบบ เพื่อส่งเสริมประเพณีและการละเล่นอันเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองธัญญบูรีกันมายาวนาน
๕. เดือนธันวาคม จัดงาน "จากราก…สู่ใบ ร่มไม้ใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี" โดยจัดเป็นรูปแบบงานบุญมหากุศล มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวเมืองธัญบุรี และชาวไทยทุกคน เพื่อสนองแนวพระดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิดาภา ประมวลทรัพย์, เบญจมาภรณ์ บำราพรักษ์, อังคณา ปาละสุทธิกุล
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 693 7835-8, 01-817 7153, 01-613-8426, 01-613 1496 (ยังมีต่อ)
-อน--