ฟิทช์ : เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนใหม่จะสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยในประเทศไทยมีโครงสร้างความเสี่ยงที่ดีขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 15, 2016 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าการพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 หรือ Risk-Based Capital (RBC 2) ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่าง จะช่วยให้บริษัทประกันภัยไทยมีโครงสร้างความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้นและสามารถเทียบเคียงกับบริษัทประกันภัยในระดับสากลได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นภายใต้แนวทางการกำกับความมั่นคงทางการเงิน (Solvency Regime) ที่คล้ายกัน Mr. Jeffrey Liew ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตบริษัทประกันภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้กล่าวในงานสัมมนาของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า หลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงตามเกณฑ์ ICP17 (Insurance Core Principle) ซึ่งแม้ว่ากฏเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินโดยรวมของอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่ด้วยกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น อาจส่งผลให้บริษัทประกันภัยขนาดกลางและขนาดเล็กต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ Mr. Jeffrey Liew ยังได้กล่าวถึงเกณฑ์การพิจารณาจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทประกันภัยของฟิทช์ (Fitch's Insurer Financial Strength - IFS) และ Prism Factor-Based Model (หรือ Prism FBM) ซึ่งเป็นแบบจำลองของฟิทช์ ที่ใช้ประเมินระดับความแข็งแกร่งในด้านเงินกองทุนของทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยมีปัจจัยด้านการพิจารณารับประกันภัย ด้านการลงทุน และด้านการดำรงเงินกองทุน เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณา งานสัมมนาในครั้งนี้ มีคุณชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นผู้กล่าวเปิดงานและได้กล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยในประเทศไทยในอนาคตและการเปลี่ยนของเกณฑ์กำกับในด้านการลงทุนและด้านความมั่นคงทางการเงิน นอกจากนี้ Mr. Julien Godart, Senior Manager – ASEAN Technology Lead, Accenture Consulting Singapore ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบรรยาย ยังได้กล่าวถึงการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลสำหรับบริษัทประกันภัยเพื่อการบริหารจัดการปัญหาในด้านการทุจริตและเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานมีความสอดคล้องกับเกณฑ์การกำกับมากขึ้น ทั้งนี้ภายในงาน มีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และสถาบันการเงิน เข้าร่วมสัมมนามากกว่า 80 ท่าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ