กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นำหลักการทรงงานเรื่อง การมีส่วนร่วม ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่ส่งออก ดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ตั้งเป้าปลายปีนี้ฟาร์มไก่ ๔,๑๐๐ แห่ง ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่ส่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยไม่น้อยกว่าปีละ ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบจากปัญหาการละเมิดสิทธิด้านแรงงานเนื่องจากผู้ประกอบการบางรายปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกสร. ได้นำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง การมีส่วนร่วมมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปไก่ส่งออก การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ร่วมกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่ นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ไปใช้ในการปรับปรุงสภาพการจ้าง การทำงานให้มีการใช้แรงงานในกระบวนการผลิตอย่างมีจริยธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า อันจะส่งผลให้สินค้าเนื้อสัตว์ปีกของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากเวทีการค้าโลกว่าผลิตขึ้นอย่างมีคุณภาพและจริยธรรมในการใช้แรงงาน
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP นี้ เจ้าของฟร์มไก่จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดเพราะต้องแสดงเจตจำนงและมีการดำเนินการที่ชัดเจนในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและเป็นธรรม
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานซึ่งขณะนี้มีฟาร์มเลี้ยงไก่ที่แสดงความมุ่งมั่นและดำเนินการปรับปรุง สภาพการจ้าง สภาพการทำงานแล้ว จำนวน ๓,๒๐๘ แห่ง ซึ่งทางกสร.จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ดำเนินการให้ฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๔,๑๐๐ แห่ง ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP ไปดำเนินการให้ครบถ้วนภายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙