กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--การประปาส่วนภูมิภาค
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เร่งสนองนโยบายรัฐบาล เตรียมความพร้อมบริการน้ำประปาทั้งด้านแหล่งน้ำดิบ ระบบผลิตและส่งจ่าย ตลอดจนดำเนินการขยายเขตให้บริการน้ำประปาเข้าไปในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำประปาของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า กปภ.มีการดำเนินงานเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลด้านการขยายกำลังการผลิตในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความต้องการใช้น้ำและความคาดหวังของนักท่องเที่ยวสูง เช่น อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ภูเก็ต ด้วยการเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งจ่ายน้ำประปาบริการประชาชนให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในหลายรูปแบบ เช่น เกาะสมุย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนตกบนเกาะสมุยน้อยที่สุดในรอบ 30 ปี ทำให้ปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปากว่า 40% ขาดหายไปจากระบบ แต่อย่างไรก็ตาม กปภ. ยังคงจ่ายน้ำประปาได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Reverse Osmosis : RO) นอกจากนี้ ยังใช้อีกหลายมาตรการควบคู่ไปด้วยทำให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเบื้องต้นได้ เช่น ใช้ระบบน้ำบาดาลเสริม เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพระบบกรอง แจกจ่ายน้ำในพื้นที่โดยรถน้ำ 25 คัน และรณรงค์ประหยัดน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ในระยะยาว กปภ. ได้วางแนวทางเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนบนเกาะสมุยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการก่อสร้างท่อจ่ายน้ำจากสถานีผลิตน้ำจากพรุเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านกระบวนการผลิตและส่งจ่ายน้ำสะอาดผ่านท่อใต้ทะเลความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งจะรองรับการขยายตัวไปไม่ต่ำกว่า 10 ปี สำหรับอำเภอหัวหิน กปภ. ได้ประสานความร่วมมือกับเทศบาลเมืองหัวหินในการขยายพื้นที่บริการไปยังบริเวณเขาเต่าและเขาตะเกียบ โดยการเพิ่มกำลังการผลิตและวางท่อจ่ายน้ำไปยังพื้นที่เหล่านั้น ตลอดจนประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานเพื่อจัดเตรียมสำรองแหล่งน้ำดิบให้เพียงพอมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถรองรับผู้ใช้น้ำเพิ่มกว่า 3,000 ราย ในส่วนจังหวัดภูเก็ตที่มีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับปริมาณน้ำดิบที่มีอยู่อย่างจำกัด กปภ. จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานในการเพิ่มแหล่งกักเก็บปริมาณน้ำดิบจนปัจจุบันมีปริมาณกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะเดียวกันได้บูรณาการจัดการเพิ่มกำลังการผลิตและจำหน่ายน้ำจากแหล่งน้ำดิบของกรมชลประทาน ขุมเหมืองจากแหล่งต่างๆ เขื่อนรัชชประภา รวมทั้งอ่างเก็บน้ำ โดยจะดำเนินการร่วมทุนตาม พรบ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 บนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ