กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--อย.
อย.เตือนแพทย์จบใหม่และที่เกษียณแล้ว คำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพในการรักษาและจ่ายยาให้แก่ผู้ที่ต้องการลดความอ้วน ซึ่งถือเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ที่มีอันตราย หากใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น ที่ผ่านมาพบคลินิกกระทำผิดกฎหมายหลายประการ เฉพาะปี 44 ดำเนินคดีกับคลินิกรวม 13 แห่ง ผู้ทำผิดมีทั้งแพทย์จบใหม่และที่เกษียณแล้วซึ่งถูกว่าจ้างให้ดำเนินการสถานพยาบาล และผู้ที่ทำงานในคลินิก
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันการลดความอ้วนกำลังเป็นที่นิยมในหมู่สตรีและวัยรุ่น แม้รูปร่างจะไม่อ้วนก็ตาม แต่อาจเป็นเพราะกระแสและค่านิยมที่ต้องการมีรูปร่างผอมเปรียวเป็นที่ยอมรับในสังคม ทำให้ตลาดของวิธีการลดความอ้วนเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นสถานเสริมความงาม คลินิกลดความอ้วน การใช้ยาและผลิตภัณฑ์ ลดความอ้วน และมีแนวโน้มว่าคลินิกลดความอ้วนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มาขอรับใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์จากกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. เพื่อต้องการใช้ยาลดความอ้วนในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เช่น เฟนเตอมีน (fhentermine) ไดเอทธิลโพรพิออน (diethylpropion) มาซินดอล (Mazindol) ยาเหล่านี้จึงขายดีมาก ทำให้นายทุนทั้งที่เป็นแพทย์ต้องการเปิดคลินิกหลายแห่ง หรือต้องการขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แม้จะมีข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดให้การประกอบกิจการสถานพยาบาลต้องมีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลด้วย โดยแพทย์ 1 คน สามารถเป็นผู้รับอนุญาตการสถานพยาบาลได้ไม่เกิน 2 แห่ง ก็ตาม แต่นายทุนก็ใช้วิธีจ้างแพทย์ที่จบใหม่และแพทย์ที่เกษียณอายุแล้วมาเป็นผู้รับอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ทั้งนี้ จากการที่ อย. เฝ้าระวังการใช้ยาลดความอ้วนที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในปะเภท 2 พบปัญหาการกระทำผิดของคลินิกหลายประการ เช่น แพทย์ผู้ทำการรักษาจ่ายยาลดความอ้วนโดยไม่ได้ตรวจร่างกายคนไข้, แพทย์ไม่อยู่ทำการรักษาในขณะที่คลินิกเปิด แต่ให้พนักงานหรือผู้ช่วยขายยาลดความอ้วนที่จัดเป็นชุดไว้แล้วให้แก่คนไข้, มีสถานพยาบาลบางแห่งขายยาลดความอ้วนทางไปรษณีย์, มีการนำยาลดความอ้วนไปขายให้แก่สถานเสริมความงามที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยาลดความอ้วน, มีการทำบัญชีรายงานการรับ-จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เป็นเท็จ, มีการแบ่งบรรจุซึ่งถือว่าเป็นการผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต, มีวัตถุออกฤทธิ์ที่ลักลอบนำเข้าฯโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในปี พ.ศ. 2544 ถึงปัจจุบัน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีกับคลินิกที่กระทำผิดรวมทั้งสิ้น 13 แห่ง ผู้ที่ถูกจับดำเนินคดีมีทั้งที่เป็นแพทย์จบใหม่และแพทย์ทีเกษียณแล้วซึ่งถูกว่าจ้างให้มาเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลตามกฎหมายซึ่งมิใช่เจ้าของกิจการและผู้ที่ทำงานในคลินิก แต่อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้รับอนุญาตดำเนินการจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในคลินิกด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับอย่างหนัก
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้แพทย์ที่รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้รอบคอบว่าสมควรหรือไม่ที่จะได้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล หากไม่สามารถดูแลการดำเนินการเองทั้งหมดให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะต้องถูกดำเนินคดีเมื่อทำผิดแล้วยังต้องถูกแพทยสภาพิจารณาจริยธรรมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอีกด้วย--จบ--
-นห-