กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--เอช อาร์ เซ็น เตอร์
"ผลการสำรวจค่าตอบแทนปี 2559/2560 ตัวเลขจาก 22 ธุรกิจ 347 องค์กร โดยสถาบัน เอช อาร์ เซ็นเตอร์ และ ดร.รุ่งโรจน์ อรรถานิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยสกิลล์พลัส จำกัดณ โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น
พบว่าประมาณการขึ้นค่าตอบแทนประจำปีจะต่ำกว่าปี 2558/2559 สะท้อนปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งออกที่ต่ำกว่าประมาณการและผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร"
ดร.รุ่งโรจน์ อรรถานิทธิ์ กล่าวว่า ในการขึ้นค่าจ้างและจ่ายโบนัสประจำปี มีเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญก็คือ ดัชนีผู้บริโภค ผลประกอบการขององค์กร และผลปฏิบัติงานของพนักงาน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งในปีนี้เป็นประเด็นเรื่องการขึ้นค่าจ้างของรัฐบาล
ในเรื่อง ดัชนีผู้บริโภค (CPI-Consumer Price Index) ถ้าปีไหน CPI ขึ้นสูง ตัวเลขการปรับค่าจ้างก็ควรจะสูงขึ้น สำหรับปีนี้ ตัวเลข CPI ของประเทศไทยใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือตัวเลขที่ 9 เดือนอยู่ที่ 0.02% คาดการณ์ทั้งปีคงไม่เกิน 0.06 %
ถ้ามองแยกค่า CPI ตามหมวด พบว่า หมวดที่เพิ่มขึ้น คือ หมวดอาหาร เพิ่มขึ้น 1.73% หมวดยารักษาโรค เพิ่มขึ้น 1.11% และเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น 0.45% ส่วนหมวดที่ลดลงคือ พลังงาน -4.61% และหมวดพาหนะ การขนส่ง และสื่อสาร -2.75% นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมค่าครองชีพของลูกจ้างถึงไม่ค่อยเพียงพอ เพราะหมวดที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นสิ่งของที่จำเป็นทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ก็คือของที่จำเป็นต้องใช้เพงขึ้นนั่นเอง
ในการขึ้นค่าจ้าง หากนายจ้างจะนำ CPI มาเป็นเกณฑ์หนึ่งในการปรับค่าจ้าง ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่เกินปีที่แล้วคือ 1-2% และอาจจะนำอัตราที่เพิ่มขึ้นของหมวดปัจจัย 4 มาเป็นเกณฑ์พิจารณาปรับเพิ่มด้วย ก็จะช่วยลูกจ้างได้มากขึ้น
อีกเรื่องที่ต้องพิจารณา ก็คือผลประกอบการขององค์กร แม้ว่าปีนี้หลายองค์กรอาจมีปัญหาว่าผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่เพื่อขวัญกำลังใจของพนักงาน องค์กรก็ควรจะตั้งงบประมาณสำหรับเรื่องนี้ไว้ ประมาณ 3-4% จากการสำรวจพบว่าตลาดจะปรับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5%
ในแง่ผลปฏิบัติงานของพนักงาน การนำเรื่องนี้มาพิจารณาปรับค่าจ้างประจำปี คงต้องอิงระบบบริหารงานบุคคลขององค์กรด้วยว่ามีความชัดเจนในระบบการประเมินผลมากน้อยแค่ไหน ระบบที่วางไว้เป็นที่ยอมรับของพนักงานและผู้บริหารเพียงใดด้วย เพื่อให้พนักงานมองว่าการปรับค่าจ้างและจ่ายโบนัสมีความยุติธรรม และคนที่ทำดีก็ได้รับผลดี และพบว่าองค์กรต่าง ๆ นำระบบการประเมินผลงานมาใช้ในการขึ้นค่าจ้างและจ่ายโบนัสมากขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในปีนี้ ก็คือ นโยบายในการปรับค่าจ้างของรัฐบาล ซึ่งคงต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 0-10 บาทตามกลุ่มจังหวัดที่คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้เสนอ เรื่องนี้องค์กรต้องเตรียมวางแผนรับการปรับค่าแรงขั้นต่ำไว้ด้วย ว่าหากจังหวัดของตนมีการปรับค่าแรงตามประกาศ องค์กรจะปรับให้พนักงานอย่างไร และจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตหรือไม่ เท่าไร
จากผลการสำรวจ 347 องค์ 22 กลุ่มธุรกิจ สรุปได้ว่าเปอร์เซ็นต์ในการปรับค่าจ้างประจำปีเฉลี่ย อยู่ประมาณ 5% ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5.3% กลุ่มธุรกิจยังมีกำไรและจ่ายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 อันดับแรกคือ
1. กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ
2. กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง
3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ส่วนโบนัสเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 2.6 เดือน ใกล้เคียงกับปีทีแล้ว กลุ่มธุรกิจที่จ่ายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 อันดับแรกคือ
1. กลุ่มบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์
2. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
3. กลุ่มเคมีภัณฑ์
สำหรับ สิ่งที่ต้องระวังในการขึ้นค่าจ้างและจ่ายโบนัสในปีนี้ เรื่องแรกที่ต้องระวังก็คือ องค์กรต้องมองผลประกอบการของตัวเองก่อน ในหลายปีที่ผ่านมาองค์กรอาจมีกำไรดี แต่ปีนี้ผลประกอบการอาจไม่ดีเท่าที่คาด การจ่ายจึงอาจไม่ดีเท่าเดิม นายจ้างจึงควรใช้กลไกการจ่ายโบนัสให้น่าพอใจแทนการขึ้นค่าจ้างในอัตราที่สูง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นภาระผูกพันระยะยาว ส่วนโบนัสเป็นการจ่ายปีต่อปีตามผลกำไร จึงอาจปรับเปลี่ยนได้ตามผลประกอบการ ทั้งนี้ในการปรับกลยุทธ์การจ่ายค่าจ้างและโบนัส ต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของพนักงานด้วย
เรื่องที่สอง คือ ผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหากรัฐบาลประกาศตามข้อเสนอของคณะคณะกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ก็จะทำให้ต้นทุนด้านค่าแรงสูงตามขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อยอดขายปัจจุบันอยู่ที่ 15.98%
อย่างไรก็ตาม หากองค์กรยังมีกำลังในการจ่าย ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการดึงตัวคนเก่งเข้ามาในองค์กร โดยองค์กรควรจ่ายให้เกินค่าเฉลี่ยของตลาด (P50) อาจจ่ายให้เกินไปที่ P60-P70 เพื่อให้ดึงดูดคนเก่งเข้ามาในองค์กร เพราะเมื่อได้คนที่มีประสิทธิภาพเข้ามา องค์กรอาจจะไม่ต้องใช้คนจำนวนมากแต่ประสิทธิภาพของงานเพิ่มขึ้น และอาจถือช่วงนี้เป็นโอกาสในการ Change องค์กรได้ด้วย