ผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ หวังรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการกระทำตามนโยบายที่หาเสียงกับประชาชน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 8, 2005 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สสว.
ผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ หวังรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการกระทำตามนโยบายที่หาเสียงกับประชาชน ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ 3 เดือนหน้าพุ่งสูง ขณะที่ราคาน้ำมันแพงยัง ฉุดดัชนีเดือนแรกของปีไก่ดิ่งลงต่ำกว่ามาตรฐาน
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานในการแถลงรายงานผลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยนางจิตราภรณ์กล่าวถึง การจัดทำรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการนี้ว่า สสว. สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ร่วมกันจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ภาคการค้าและบริการ (Trade and Services Sentiment Index : TSSI) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสถิติที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs และเพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวโน้มภาวการณ์ของ SMEs ในภาคการค้าและบริการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ
นางจิตราภรณ์ เปิดเผยถึงผลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs รวม ภาคการค้าและบริการ เดือนมกราคม 2548 สำรวจ ณ 20 ม.ค.2548 - 4 ก.พ.2548 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 46.8 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในปัจจุบันในระดับที่ไม่ดีนัก เนื่องจากค่าดัชนีที่ได้ อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ในขณะที่ค่าดัชนีคาดการณ์ในอนาคตอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับค่าดัชนีในปัจจุบัน โดยทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีมีทิศทางไปในทางเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมีความเชื่อมั่นในปัจจุบันในระดับที่ไม่ดีนัก เพราะอาจสืบเนื่องมากจากในช่วงเดือนแรกของปีนี้ ยังไม่มีปัจจัยใดเข้ามาส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคการค้าและบริการมากนัก ส่งผลให้ในช่วงนี้ภาวการณ์ของธุรกิจจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว
"ค่าดัชนีคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับที่ค่อนข้างดี เนื่องจากในช่วงที่ทำการสำรวจเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าหลังจากการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นน่าจะมีการดำเนินการตามนโยบายที่แต่ละพรรคได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชน ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ดีขึ้นในระดับหนึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีกว่าในเดือนปัจจุบัน" ผู้อำนวยการ สสว. กล่าว
สำหรับขั้นตอนการจัดสร้างดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจนี้ นางจิตราภรณ์เปิดเผยว่า เป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการจากสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และขนาดใหญ่ควบคู่ไปด้วย โดยสุ่มตัวอย่างจากสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ 14 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวนประมาณ 2,350 ตัวอย่าง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เป็นกลุ่มตัวอย่างประจำ ประกอบด้วยสถานประกอบการในภาคการค้าและภาคการบริการ โดยภาคการค้าประกอบด้วย การค้าส่ง และการค้าปลีก ภาคบริหาร ประกอบด้วย การก่อสร้าง กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ บริการด้านสุขภาพ/ความงาม การท่องเที่ยว สันทนาการ/วัฒนธรรม/การกีฬา ด้านการขนส่ง โรงแรม/เกสต์เฮาต์/ภัตตาคาร ร้านอาหาร/ภัตตาคาร และบริการวิชาชีพ
ด้านนายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ สสว.แถลงว่า อาจสืบเนื่องมาจากช่วงเดือนแรกของปียังไม่มีปัจจัยเชิงบวกเข้ามาส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคการค้าและบริการมากนัก และยอดคำสั่งซื้อและยอดขายได้เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ผ่านมา ทำให้ภาวการณ์ของธุรกิจอยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลให้เชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ในเดือนมกราคม ของปี 2548 อยู่ในระดับ 46.8 ซึ่งต่ำกว่าความเชื่อมั่นในปี 2547 แต่ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าในระดับที่ค่อนข้างดี โดยมีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่เกินกว่า 50 ผลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้า อยู่ในระดับ 46.3 โดยแยกเป็นดัชนีของผู้ประกอบการค้าส่งอยู่ในระดับ 45.8 ซึ่งต่ำกว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 46.4 แสดงถึงความมั่นใจต่อการประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ในปัจจุบันอยู่ในระดับไม่ดีนัก แต่ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าในระดับที่ค่อนข้างดี โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 50.3 โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบในทางบวกในหลายกลุ่มสาขา ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านลบได้แก่ ราคาน้ำมันและค่าบริการสาธารณูปโภคโดยรวม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ภาคการบริการ อยู่ในระดับ 47.5 ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน ส่วนการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบธุรกิจสูงกว่าในระดับปัจจุบัน
นายภักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการค้าและบริการต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 49.4 อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เล็กน้อย และดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่นในระดับที่สูงในทุกกลุ่มสาขา ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 60.6 ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง และหากแยกความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าดัชนีอยู่บนที่ระดับ 48.2 เป็นผลมาจากปัจจัยด้านลบด้านระดับราคาน้ำมันและค่าบริการสาธารณูปโภคโดยรวม ภาคการค้าปลีกดัชนีอยู่ที่ระดับ 47.1 ต่ำกว่าภาคการค้าส่งที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.0 ผู้ประกอบการภาคการค้าคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศใน 3 เดือนข้างหน้า จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3 ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการบริการต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 50.9 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคการค้า และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 65.1 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต
"หากพิจารณาดัชนี TSSI จำแนกตามองค์ประกอบปัจจัยกำหนดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละองค์ประกอบ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ทั้ง ดัชนียอดจำหน่าย ดัชนีต้นทุน และดัชนีกำไร ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 46.8, 35.8 และ 44.8 ตามลำดับ แต่ค่าดัชนีก็มีค่าต่ำกว่า 50 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะมีเพียงดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนเพียงองค์ประกอบเดียวที่อยู่ในระดับต่ำมาก แต่หากพิจารณาดัชนีจำแนกตามองค์ประกอบคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีมีค่าเกินกว่า 50 ทุกค่า ทั้งดัชนียอดจำหน่าย ดัชนีการจ้างงาน ดัชนีการลงทุน และดัชนีกำไร อยู่ที่ระดับ 52.9, 51.1, 58.7 และ 54.5 ตามลำดับ ยกเว้นค่าดัชนีต้นทุนเท่านั้นที่มีค่าต่ำกว่า 50 อยู่ที่ระดับ 37.8 ซึ่งค่าดัชนีในกิจกรรมทุกประเภทเป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งจากค่าดัชนีขององค์ประกอบทั้ง 5 ปัจจัย อาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุนเป็นหลัก" นายภักดิ์ กล่าว
รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวอีกว่าสำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการนั้น ประกอบการ มองถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในลักษณะที่คล้ายคลึงกับในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา คือ ไม่มีปัจจัยใดส่งผลกระทบในด้านบวกต่อกิจการอย่างชัดเจน จะมีเพียงปัจจัยในด้านของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของกิจการที่แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจน แต่กิจการที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มองว่าได้รับผลกระทบในด้านบวก สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางด้านลบต่อกิจการก็เช่นเดียวกับในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาซึ่งได้แก่ ระดับ ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงระดับราคาของบริการสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
"ผู้ประกอบการจำนวนมากมองว่า ควรที่จะมีการรวมตัวกันมากขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แก่กลุ่มของตนและควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมากในธุรกิจแทบทุกกลุ่มและควรมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมองก็เสนอแนะต่อภาครัฐว่ารัฐบาลควรที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องของระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคุมราคาสินค้าและวัตถุดิบ ควรมีการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs อย่างจริงจังมากขึ้น มีการจัดกาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธุรกิจ SMEs ให้มากขึ้น ดูแลในเรื่องของภาษีให้มีความเหมาะสมกับประเภทธุรกิจ ช่วยเหลือในด้านของการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกจากนี้ภาครัฐควรที่จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น" นายภักดิ์ กล่าว
นายภักดิ์ กล่าวอีกว่า และเมื่อแยกพิจารณารายละเอียดของแต่ละสาขาย่อย ค่าดัชนีที่ได้ในปัจจุบันมีระดับต่ำกว่า 50 ยกเว้นดัชนีด้านการขนส่ง อยู่ที่ระดับ 50.4 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจในปัจจุบันไม่ดีนัก โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่ดัชนีอยู่ ณ ระดับ 41.4 สำหรับการคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นด้านการขนส่ง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 49.2 และสาขาธุรกิจที่ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ได้แก่สาขาธุรกิจร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) ร้านค้าปลีก (ดั้งเดิม) และสาขาร้านอาหาร/ภัตตาคาร ซึ่งปัจจัยระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นสำหรับทุกสาขาธุรกิจ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กฤตติยา/สุทธิสิทธิ์/พิชามญชุ์/คริษฐา
โทร. 02-278-8800 ต่อ 306, 311, 310, 514--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ