ประชาชน 63.11 เชื่อว่าการแชร์คลิปพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านโซเชียลจะทำให้ผู้กระทำหลาบจำไม่กล้าทำอีก ร้อยละ 67.09 ทำให้ผู้คนระมัดระวังตัวในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ แต่ร้อยละ 66.24 ชี้ส่วนใหญ่มีการเขียนคอมเมนรุนแรงเกินไป

ข่าวทั่วไป Monday November 21, 2016 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,182 คน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันนอกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์จะใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขายสินค้าและบริการแล้ว เครือข่ายสังคมออนไลน์ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะ เช่น การชกต่อย/ทำร้ายร่างกายผู้อื่น การขับยานพาหนะชนยานพาหนะผู้อื่น การด่าทอ การบังคับให้ผู้อื่นกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นต้น ถึงแม้การเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะจะมีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมได้ทราบเรื่องราว/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบดำเนินคดีหรือหาข้อเท็จจริงโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ แต่การเผยแพร่คลิปวิดีโอประเภทดังกล่าวอาจเป็นการสร้างผลกระทบทั้งกับตัวผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆให้เกิดความเครียดหรือความละอายได้ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบไปถึงการดำรงชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน นอกจากนี้ในปัจจุบันเมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้คนส่วนหนึ่งมักใช้ถ้อยคำในการเขียนวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิอย่างรุนแรงหยาบคาย รวมถึงการตำหนิไปถึงครอบครัว/เพื่อนร่วมงาน และนำพฤติกรรมส่วนตัวต่างๆมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนักวิชาการและผู้คนในสังคมอีกส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความห่วงใยว่าการเขียนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคายอาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งเกลียดชังระหว่างผู้คนในสังคมได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ศ.ดร. ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.59 และเพศชายร้อยละ 49.41 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในสถานประกอบการเอกชน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ในด้านพฤติกรรมการแบ่งปันคลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.46 ระบุว่าตนเองเคยแบ่งปัน/ส่งต่อคลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น การชกต่อย/ทำร้ายร่างกายผู้อื่น การขับยานพาหนะชนยานพาหนะผู้อื่น การด่าทอ การบังคับให้ผู้อื่นกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นต้น ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์บ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.97 ระบุว่าเคยเป็นประจำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.57 ระบุว่าไม่เคยเลย ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.11 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนทำให้ผู้ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในคลิปวิดีโอเกิดความหลาบจำจนไม่กล้ากระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นๆอีก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.4 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง/ดำเนินคดีทางกฎหมายรวดเร็วขึ้นได้ เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในสถานที่สาธารณะที่ถูกเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ออกมาแสดงความรับผิดชอบนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.88 มีความคิดเห็นว่าเป็นเพราะเกิดความละอายที่ถูกเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.62 มีความคิดเห็นว่าเป็นเพราะความสำนึกผิดอย่างแท้จริงมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.5 มีความคิดเห็นว่าทั้งสองปัจจัยเท่าๆกัน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.09 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมระมัดระวังตัวในการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.19 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนทำให้สังคมได้รับบทเรียนในการอยู่ร่วมกันอย่างมีสติและเหตุผลได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.93 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่คลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จะมีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเครียดมากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.24 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่เขียนวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเกินไป นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.06 มีความคิดเห็นว่าการเขียนวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกับผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเกลียดชังระหว่างผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้นได้ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.25 มีความคิดเห็นว่าหากผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอการกระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆในสถานที่สาธารณะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของสังคม เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง หรือนักกีฬา บุคคลเหล่านั้นควรได้รับการลงโทษให้หนักกว่าบุคคลทั่วไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.63 มีความคิดเห็นว่าควรได้รับบทลงโทษเท่ากัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.12 ไม่แน่ใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ