กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี
โดยนายพอล แม็คเคล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนตลาดเกิดใหม่ ธนาคารเอชเอสบีซี
เราปรับประมาณการสกุลเงินเอเชียสู่แนวโน้มที่อ่อนค่ามากขึ้น รวมทั้งเงินหยวนที่คาดว่าจะไปอยู่ที่ 7.20 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2560 (จากเดิม 6.90)
เราวิเคราะห์บนสมมุติฐานที่สกุลเงินเอเชียมีแรงหนุนจากปัจจัยภายนอกลดลง นั่นคือ อัตราผลตอบแทนในสหรัฐที่สูงขึ้น และความเสี่ยงจากการค้าโลกที่ซบเซา
เราเห็นว่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ และเงินบาทไทยน่าสนใจมากกว่าเงินหยวน และเงินริงกิตมาเลเซีย ส่วนเงินรูปีอินเดีย และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียน่าจะมีแนวโน้มที่ดีที่สุดในกลุ่มสกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง
เราได้ปรับประมาณการอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเอเชีย โดยคาดว่าสกุลเงินเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าที่คาดไว้เดิมเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และที่สำคัญ ขณะนี้เราคาดว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าไปที่ระดับ 6.90 และ 7.20 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2559 และ 2560 จากเดิมที่ 6.80 และ 6.90 ตามลำดับ
สกุลเงินเอเชียเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ของเราอยู่บนสมมุติฐานที่ปัจจัยภายนอกไม่ค่อยเอื้ออำนวย โดยเฟดอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์หากรัฐบาลสหรัฐฯมีการออกมาตรการทางการคลัง ขณะเดียวกัน ผลพวงจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้นอาจไม่ได้ส่งผลบวกต่อผู้ส่งออกในเอเชียมาก หากสหรัฐใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์
ดังนั้น การจัดลำดับความน่าสนใจของสกุลเงินเอเชียของเราจึงขึ้นอยู่กับว่านโยบายใดของนายทรัมป์ (นโยบายการคลังและ/หรือนโยบายการค้า) จะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินเอเชียมากกว่า รวมถึงปัจจัยเฉพาะภายในของประเทศในเอเชีย ในระยะยาว เราสนใจสกุลเงินที่ได้อานิสงส์จากโมเมนตัมการเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น เงินรูปีของอินเดีย เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และเงินเปโซของฟิลิปปินส์ และสกุลเงินประเทศที่มีกรอบนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งแกร่ง เช่น เงินบาทไทย อย่างไรก็ตาม เงินรูปีอินเดีย และเงินรูเปียอินโดนีเซียอาจจะเคลื่อนไหวผันผวนอีกสักระยะจากความอ่อนไหวต่อความผันผวนของพันธบัตรประเทศเศรษฐกิจหลักและในภาวะตลาดขณะนี้ยังมีความเสี่ยงในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสกุลเงินน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่อื่น ๆในตลาดเกิดใหม่ที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง
เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงสกุลเงินที่มีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐในระดับสูงและสกุลเงินของประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุน เช่น เงินหยวน และเงินริงกิตมาเลเซีย นอกจากนี้ เราคาดว่าสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำแต่เป็นสกุลเงินของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกมาก เช่น เงินวอนเกาหลีใต้ เงินดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินดอลลาร์ไต้หวัน จะมีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่น
ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะลุกลามไปทั่วโลกนั้น ต้องยอมรับว่าตอนนี้นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ และผลกระทบที่อาจมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และนโยบายการเงินของสหรัฐเองก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม แม้เป็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้น เราก็เชื่อว่าสกุลเงินเอเชียจะเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้น
สุดท้ายนี้ เรามองว่าการเมืองภายในประเทศมีโอกาสทำให้ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนย่ำแย่ลงในสถานการณ์ที่ปัจจัยภายนอกไม่สามารถคาดเดาได้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงผู้นำในแต่ละประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์ของเอเชียกับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐ
จับตาค่าเงินบาท
เราคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย ถึงแม้ว่าปัจจัยที่มาจากเงินบาทโดยตรงจะมีจำกัด ดังนั้น เราคาดว่าเงินบาทจะค่อย ๆ ปรับตัวอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเมื่อเข้าสู่ปี 2560 แต่ก็ยังไม่ถึงระดับของสถิติเมื่อเดือนตุลาคมปี 58 ที่ 36.7 ฐานะดุลการชำระเงินของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มจะทรงตัวต่อไปในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและการนำเข้าสินค้าทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานน่าจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นเพียงในระยะปลายของการก่อสร้างในส่วนงานโยธา นอกจากนั้น ภาวะการท่องเที่ยวดูจะแข็งแกร่งมากกว่าที่หลายคนคาดถึงแม้จะอยู่ในห้วงเวลาของการไว้อาลัย และอาจจะเป็นเช่นนี้ต่อไปถึงแม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า
ขณะเดียวกัน การไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนค่าเงินบาท เนื่องจากเงินทุนจากต่างชาติเพิ่งจะกลับเข้ามาในปีนี้หลังจากที่ไหลออกไปในช่วง 3 ปีก่อน ดังนั้น เรามองว่า ความเสี่ยงที่เงินทุนต่างชาติจะไหลออกและฉุดให้เงินบาทอ่อนค่าลงเป็นเวลานานนั้นยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคมากเกินไป ธปท.มีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศ และผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนภายในประเทศ ทั้งนี้ นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทยมีความระมัดระวังสูงในการดูแลความผันผวน (ทั้งสองด้าน) ของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ