กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ผนึกกำลังย้ำสินค้าเหล็กทุ่มตลาดป่วนทั่วโลก ประเทศค้าเสรีใหญ่เล็ก ทั้งอเมริกา สหภาพยุโรป เอเซีย ต่างใช้มาตรการตอบโต้ตามกฎ WTO คำนึงผลประโยชน์และความมั่นคงชาติระยะยาว คงอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศผลิตสินค้ายุทธศาสตร์ของชาติ ควบคู่การค้าสินค้าเหล็กอย่างเป็นธรรม เผยแม้มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)แล้ว สินค้าเหล็กจีนนำเข้าไทยกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง30% ร้องภาครัฐเร่งมาตรการเอดีและปราบปรามผู้นำเข้าสินค้าเหล็กที่เลี่ยงอากร
นายวิน วิริยประไพกิจ ในฐานะผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย 7 สมาคม อาทิ สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมโลหะไทย และกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก มีสมาชิกรวม 472 บริษัท ชี้แจงว่านับตั้งแต่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้ประสานภาครัฐเพื่อแจ้งวิกฤติที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยประสบกับการทุ่มตลาดจากต่างชาติ และหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของชาติ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานหลัก คือ (1) กระทรวงพาณิชย์ (2) กระทรวงอุตสาหกรรม และ (3) กระทรวงการคลัง มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากจนสามารถบรรเทาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศซึ่งดูแลการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดการค้าและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และกรมศุลกากรตรวจจับเอาผิดผู้ที่หลบเลี่ยงอากรนำเข้าสินค้าเหล็กอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศจากผลกระทบของสถานการณ์เหล็กที่ล้นตลาดโลก ที่เป็นผลมาจากการผลิตเหล็กของจีน ถึงแม้ว่าจีนจะมีนโยบายลดการผลิตลงโดยมีเป้าหมายภายในปี 2563 จะลดกำลังการผลิตเหล็กกล้าลง 100-150 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตเหล็กดิบรวม 9 เดือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดย ปี 2559 เท่ากับ 601 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558มีปริมาณรวม 604 ล้านตัน (ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และWorld Steel Association) ดังนั้น มาตรการต่างๆ จึงยังต้องคงดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและมีบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายวินเผยว่า การพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าประเทศใดและผู้ผลิตรายใดทำการทุ่มตลาดหรือไม่ โดยอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศมั่นใจว่า กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นจริง และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาสินค้าเหล็กทุ่มตลาด เพื่อให้เกิดสมดุลในการค้าสินค้าเหล็ก (Trade Balance) คือ มีการแข่งขันโดยนำเข้าสินค้าเหล็กในราคาตลาดที่แท้จริงไม่ใช่ราคาทุ่มตลาด และผู้ผลิตเหล็กในประเทศก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยมีการใช้กำลังการผลิตในอัตราที่เหมาะสม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กภายในถดถอยเหลือเพียง 30% เท่านั้น
นายนาวา จันทนสุรคน อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เรียกร้องว่าแม้มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กเพื่อลดปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ภาครัฐต้องจับตาสถานการณ์และความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ เพราะประเทศจีนและผู้นำเข้าบางรายยังแสดงข้อมูลเท็จ เบี่ยงประเด็น และใช้เล่ห์กลต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด หรืออากรตอบโต้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
(1) การสำแดงพิกัดศุลกากรอันเป็นเท็จ การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร การเปลี่ยนประเภทสินค้าเหล็กที่นำเข้าเป็นโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป การอ้างผลิตเพื่อส่งออกให้ได้รับการยกเว้นอากร เป็นต้น ดังนั้น สินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากจีนจึงไม่ได้มีปริมาณลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2559 สินค้าเหล็กจากจีนมีปริมาณนำเข้าไทยสูงขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2558
(2) การใช้เวียดนามเป็นฐานรับสินค้าเหล็กจากจีนมาแปรรูปเป็นสินค้าเหล็กซึ่งจีนโดนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด แล้วส่งออกสินค้าเหล็กดังกล่าวมายังไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกทอดหนึ่ง โดยการหลบเลี่ยงเช่นนี้ มีส่วนทำให้ปริมาณการส่งออกเหล็กจากจีนไปเวียดนามเติบโตแบบก้าวกระโดดเกือบ 2 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 3-4 ปี โดยคาดว่าจีนจะส่งออกเหล็กไปยังเวียดนามเกือบ 13 ล้านตัน ในปีนี้
ดร. เภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศจีนได้แสดงจุดยืนถึงนโยบายการเร่งการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ดังนั้นการที่ประเทศจีนมีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสิ่งก่อสร้าง และส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็ก และเหล็กกล้า (Pre-Fabricated Steel) จึงไม่ได้มีสาเหตุจากการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของไทย แต่เป็นนโยบายของประเทศจีนที่กำหนดมาแล้วตั้งแต่ต้นแล้ว
นอกจากนี้การนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป เช่น โครงสร้างบ้านสำเร็จรูป โครงสร้างอาคารสำเร็จรูป ยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมวัสดุที่ใช้ในการประกอบโครงสร้างสำเร็จรูปดังกล่าว อาทิ เช่น สินค้าเหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้าง จึงอาจจะเป็นวัสดุที่ไม่มีคุณภาพ และอาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนจึงขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการกำหนดให้วัสดุที่นำมาประกอบเป็นโครงสร้างเหล่านี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของวัสดุแต่ละชนิด เพื่อป้องกันเหล็กด้อยคุณภาพเข้ามาในประเทศ และป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าอีกทางหนึ่งด้วย
นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น เปิดเผยว่าในระยะหลังนี้ สมอ. ได้เร่งปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าท่อเหล็กหลายรายการ เช่น มอก.107, 427, 276 เป็นต้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันท่อเหล็กด้อยคุณภาพทุ่มตลาดมายังไทย และกระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาเปิดไต่สวนสินค้าท่อเหล็กทุ่มตลาดจากเวียดนาม เพิ่ม โดยย้ำว่านอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้ว อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศยังยืนยันและสนับสนุน ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อสามารถบังคับใช้มาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นตามกติกาการค้าโลกเพิ่มเติมด้วย ได้แก่
มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) เพื่อสามารถเอาผิดผู้นำเข้าบางรายที่ยังคงเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในลักษณะต่างๆ จนทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากอากรที่ควรจัดเก็บเป็นรายได้ของชาตินับหมื่นล้านบาทต่อปี
มาตรการตอบโต้การอุดหนุน ตาม พรบ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนได้แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันจีนมีนโยบายในการอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นจำนวนมาก โดยมีนโยบายหลักดังนี้ (1) การอุดหนุนโดยการให้เงินช่วยเหลือ และเงินลงทุน (2) การอุดหนุนโดยการแปลงหนี้เป็นทุน (3) การอุดหนุนโดยการชดเชยค่าวัตถุดิบ (4) การอุดหนุนโดยการคืนอากรกรณีการส่งออก (5) การอุดหนุนโดยให้ใช้พลังไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งจากรายงานได้มีการประเมินมูลค่าไว้บางส่วนเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าการอุดหนุนจากรัฐบาลกว่า 318 พันล้านหยวนต่อปี (ผลการศึกษาจากสถาบันต่างๆของอเมริกา อาทิเช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าของอเมริกา และสถาบันอเมริกันเหล็กก่อสร้าง และจากสื่อหนังสือพิมพ์ อาทิเช่นBloomberg News) หรือคิดเป็นเงินอุดหนุนกว่า 1.78 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้ประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนสินค้าเหล็กไปแล้วถึง 48 มาตรการ
นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นต่อมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ว่าเป็นกลไกตามกติกาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และเป็นเครื่องมือที่นานาประเทศต่างก็ใช้กันเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นธรรม เพราะหากปล่อยปละละเลยไม่ใช้มาตรการดังกล่าว ก็เท่ากับส่งเสริมให้ผู้ที่ทำการค้าไม่เป็นธรรมทั้งประเทศผู้ผลิตสินค้าทุ่มตลาดและผู้นำเข้าที่ต้องการต้นทุนต่ำกว่ากลไกตลาด ได้เปรียบอุตสาหกรรมภายในประเทศ และทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกทุ่มตลาด
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้สินค้าเหล็กทุ่มตลาดมากที่สุดในโลก รวม 65 มาตรการ และกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่สูงมาก เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็นจากจีน ที่อัตรา 265.79% เป็นต้น โดยอเมริกามีนโยบายใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ อย่างรวดเร็วและแข็งกร้าว ซึ่งสกัดกั้นเหล็กทุ่มตลาดอย่างได้ผล และช่วยรักษาการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กภายในอเมริกาให้ฟื้นกลับมาที่ระดับ 70%-80%
สหภาพยุโรป กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และตอบโต้การอุดหนุนสินค้าเหล็ก เพิ่มมากถึง 37 มาตรการ โดยเป็นมาตรการต่อสินค้าเหล็กจากจีน 15 มาตรการ ซึ่งแม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้ใช้เหล็กที่ต้องการนำเข้าเหล็กราคาต่ำ แต่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแถลงอย่างชัดเจนว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการเหล่านี้ซึ่งเป็นไปตามกรอบของกฏหมายที่เข้มงวด เพื่อประโยชน์ของสหภาพยุโรปส่วนรวม ในการแก้ปัญหาสถานการณ์การค้าเหล็กทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรม และให้อุตสาหกรรมเหล็กของยุโรปสามารถแข่งขันได้ในสภาพการผลิตเหล็กที่ล้นเกินความต้องการของโลก
ประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก ก็มีอีกมากมาย เช่น ออสเตรเลีย 38 มาตรการ, อินเดีย 30 มาตรการ,อินโดนีเซีย 27 มาตรการ เป็นต้น
แม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงระดับต้นของโลกในการผลิตเหล็ก ก็ต้องหันมาพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้สินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากประเทศจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
ในปี 2559 นี้ มีการไต่สวนและใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กทั่วโลกเพิ่มเติมอีก 61 มาตรการ โดยรวมกรณีของประเทศไทยด้วย 5 มาตรการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นธรรม
นอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้ว ประเทศต่างๆ ในเอเซียซึ่งอยู่ใกล้จีนที่เป็นผู้ทุ่มตลาดสินค้าเหล็กมากสุดในโลก ยังได้ใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น มาตรการจำกัดปริมาณนำเข้าสินค้าเหล็ก (Quantitative Restriction: QR) จำนวน 44 มาตรการและ มาตรการตอบโต้การนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) 10 มาตรการ เป็นต้น