กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน
· รายงานประจำเดือน พ.ย. 59 ของ OPEC เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 33.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจาก อิรัก ไนจีเรียและลิเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
· Baker Hughes Inc. รายงาน จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 19 แท่น มาอยู่ที่ 471 แท่น เพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 16 เดือน
· Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 490.3 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 สัปดาห์และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล
· ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ วันที่ 17 พ.ย. 59 แข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินในตะกร้าหลัก เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นต่อนโยบายลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่และการลดหย่อนภาษีของนายโดนัล ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 59
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบWTI ที่ตลาด ICE ในลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ย. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9,459 สัญญา มาอยู่ที่ 168,223 สัญญา
ปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน
· ความเป็นไปได้ที่ OPEC จะประกาศลดปริมาณการผลิตในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้ เพิ่มสูงขึ้น หลังจากมีรายงานข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประเทศสมาชิก OPEC และรัสเซีย ประชุมหารือระหว่างร่วมงาน Gas Exporting Forum ที่ประเทศกาตาร์
· กลุ่ม Niger Delta Avengers ในไนจีเรียแถลงเป็นผู้โจมตีท่อขนส่ง Nembe Creek บริเวณตอนใต้ของรัฐ Bayelsa ที่ใช้สูบถ่ายน้ำมันดิบปริมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ไปยังท่าส่งออก Bonny เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 59 (ท่อดังกล่าวดำเนินการโดย บริษัท Aiteo, Oando และ Shell)
· EIA ประเมินปริมาณการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 59 จะลดลงจากเดือนก่อนหน้า 20,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 12 ใน 13 เดือนหลังสุด และทำสถิติต่ำสุดตั้งแต่ เดือน เม.ย. 57
· สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศเดือน ต.ค. 59 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11% อยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากแหล่งผลิตน้ำมันดำเนินการผลิตมานาน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 2.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบทั้งสองชนิดเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดมองว่า OPEC อาจตกลงกันได้ในประเด็นคงการผลิตหรือลดการผลิตน้ำมันดิบแต่ ณ ตอนนี้ยังไม่แน่ชัด ล่าสุด นาย Bijan Zanganeh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอิหร่านเผยหลังการหารือกับนาย Mohammed Barkindo เลขาธิการ OPEC ว่า มีโอกาสสูงที่ประเทศสมาชิก OPEC จะสามารถตกลงกันได้ในการประชุมสามัญวันที่ 30 พ.ย. 59 และราคาน้ำมันอาจทะยานขึ้นไปถึงระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ถ้า OPEC มีมติคงการผลิตน้ำมันดิบและได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตรายใหญ่นอก OPEC อาทิ รัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีVladimir Putin กล่าวว่ารัสเซียพร้อมทำทุกประการที่ OPEC คาดหวัง และไม่มีปัญหาในการตรึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ต่างออกมาขานรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Donald Trump ไม่ว่าจะบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อย่าง Exxon Mobil Corp. ตลอดจนบริษัทเอกชนเช่น Conoco Phillips และ Continental Resources ด้วยความเชื่อมั่นว่านาย Trump จะสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม พร้อมแก้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จำกัดการขุดเจาะ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวที่ 44.5-47.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 42-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics )รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.2 % อยู่ที่ระดับ 95 ล้านบาร์เรล และ บริษัท Sinochem ของจีนออกประมูลขายน้ำมันเบนซินด้วยสัญญาแบบเทอมเป็นครั้งแรก ปริมาณรวม 3.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งมอบปี พ.ศ. 2560 ขณะที่ บริษัท Z Energy เผยโรงกลั่น Marsden Point (96,000 บาร์เรลต่อวัน) ของนิวซีแลนด์ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวความแรงระดับ 7.5 ริคเตอร์ ทางตอนใต้ของประเทศ ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ Amsterdam-Rotterdam- Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล หรือ 30.4 % อยู่ที่ 8.2 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.17 % หรือ 220,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.13 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.33 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานยอดขายรถยนต์ของจีน ในเดือน ต.ค. 59 แตะระดับสูงสุดในปี พ.ศ. 2559 ที่ 2.65 ล้านคัน โดยเฉพาะรถยนต์ SUV ทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์จีนสูงกว่าจำนวนรถยนต์เก่าที่ถูกทำลาย ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจากปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลในเอเชียอยู่ในระดับสูงโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล เดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4 % อยู่ที่ระดับ 116 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ Platts คาดอุปทาน Middle Distillates จากจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี เพราะโรงกลั่นที่ได้โควตาการส่งออกเร่งใช้โควตาก่อนสิ้นปี อีกทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของมาเลเซียในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค. - ก.ย.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.59% มาอยู่ที่ระดับ 8.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรตาม Reuters รายงานอุณหภูมิบริเวณเอเชียเหนือ อาทิ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ความต้องการKerosene ถ่านหิน และน้ำมันเตา เพื่อทำความอบอุ่นและผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในหลายภูมิภาคลดลง โดย PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณARA สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล หรือ 8.0 % อยู่ที่ 20.3 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล หรือ 1.95 % อยู่ที่ 8.98 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.88 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.43 ล้านบาร์เรล ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล