กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)จัดประชุมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมพ.ศ.2559 และการจัดทำรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.)เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม และมีนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางพิมพ์ระวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ผู้บริหารและข้าราชการวธ.ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นักวิชาการ สภาวัฒนธรรมทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวว่า ได้เชิญสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศมาประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจในการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 โดยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแบ่งเป็น 6 ประเภทได้แก่ 1.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2.ศิลปะการแสดง 3.แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล 4.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 5.งานช่างฝีมือดั้งเดิม 6.การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
นายวีระ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญกับชุมชนในฐานะเจ้าของมรดกภูมิปัญญาในการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และร่วมจัดทำรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมมือกับสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจในเรื่องนี้ โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับจังหวัด และคณะกรรมการส่งเสริมฯระดับชาติทำหน้าที่พิจารณาและเห็นชอบนโยบาย แผนส่งเสริม รวมทั้งการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ปัจจุบัน วธ.ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยใน 6 สาขาไปแล้ว 318 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในต่างจังหวัด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของวธ.นั้น ขณะนี้วธ.จัดทำแผนงานรองรับเรียบร้อยแล้ว และจะจัดสร้างแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของ วธ. ได้แก่ 1.การพัฒนาพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแสดงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระดับโลก อาทิ อาคารสำนักงานกระทรวงวัฒนธรรม หอศิลป์ร่วมสมัย โรงละครแห่งใหม่ ห้องสมุดวัฒนธรรม เป็นต้น 2.การพัฒนาพื้นที่คลองห้าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมระดับโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ อาคารคลังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์มรดกโลก และ3.การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ จ.พังงาใน 5 ปี
ทั้งนี้ จะเสนอทั้ง 3 โครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า วธ.ตั้งเป้าหมายนำเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่บัญชีมรดกภูมิปัญญาระดับโลก 5 รายการ ได้แก่ โขน โนรา มวยไทย นวดไทย และอาหารไทย ทั้งนี้ เตรียมเสนอโขนขึ้นบัญชีมรดกโลกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560