กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้(15 มี.ค. 48) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กทม. ว่า ขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้รุกคืบในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะพื้นที่รอบนอก อาทิ ลาดกระบัง หนองจอก คลองสามวา ซึ่งแม้ปัญหาดังกล่าวจะยังไม่รุนแรงนักแต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ประชาชนในหลายพื้นที่เกิดความเดือดร้อน คาดว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการเรียกประชุมด่วนผู้บริหารเขต 50 เขต และสำนักที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบสถานการณ์ภัยแล้งตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงานเมื่อวานนี้(14มี.ค.48) พร้อมทั้งจำแนกปัญหาภัยแล้งและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนซึ่งต้องดำเนินการเร่งด่วน 4 ปัญหา ได้แก่ ปัญหาเรื่องน้ำ อาทิ ปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อน้ำการสาธารณะต่างๆ ซึ่งต้องมีการหาแหล่งน้ำสำรอง เตรียมความพร้อมของรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ แท้งค์น้ำ บ่อน้ำบาด ตลอดจนให้มีการขุดลอกคู คลอง และลำรางสาธารณะเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้กทม.ได้ประสานกับการประปานครหลวงสนับสนุนจุดแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนที่ประสบปัญหา บริเวณสำนักงานประปาสาขาจำนวน 17 จุด ได้แก่ สุขุมวิท พระโขนง สมุทรปราการ พญาไท ทุ่งมหาเมฆ แม้นศรี ลาดพร้าว นนทบุรี ประชาชื่น บางเขน มีนบุรี บางกอกน้อย ภาษีเจริญ บางบัวทอง และตากสิน ซึ่งมีจำนวน 3 จุด โดยไม่คิดมูลค่า ปัญหาอัคคีภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟไหม้หญ้าริมทาง และลุกลามถึงบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งมักเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ชั้นนอกของกทม. จึงให้เขตที่มีความเสี่ยงเตรียมสถานที่เพื่อตั้งสถานีดับเพลิงย่อยชั่วคราว
พร้อมทั้งทำแนวกันไฟเพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามของเหตุไฟไหม้หญ้า ปัญหาโรคในช่วงภัยแล้ง หรือมีแนวโน้มว่าอาจเกิดขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งกทม.ได้จัดเตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงในแหล่งชุมชนที่มีผู้อพยพ เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันโรคในช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้หากประชาชนพบหรือสงสัยว่ามีการระบาดของโรคให้รีบแจ้งทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2245 4964 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะได้จัดทีมแพทย์เข้าไปให้การช่วยเหลือเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมี ปัญหาการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากปัญหาการทำกิน จึงต้องกำหนดมาตรการเพื่อรองรับแรงงานต่างถิ่นที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในกทม.จำนวนมาก โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกที่สาธารณะเกิดความเดือดร้อน เป็นปัญหาชุมชน หรือสังคมต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนปัญหาการใช้น้ำจากพื้นที่เกษตรกรรมและการเพาะปลูกในกทม.นั้น อาทิ การปลูกข้าวนาปีและนาปลัง และการทำผักและสวนผลไม้ ซึ่งในปีนี้ข้าวนาปีไม่ประสบปัญหาเนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวแล้ว แต่จะมีปัญหาในส่วนของนาปลังกว่า 100,000 ไร่ ซึ่งมีระยะเวลาปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. แม้ในระยะนี้จะอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวไปแล้วร้อยละ60 แต่หากบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการเพาะปลูก ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ในส่วนของเกษตรกรสวนผลไม้อาจได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากการไหลทะลักของน้ำเค็ม ดังนั้นจึงขอให้สูบน้ำเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะประสานให้สำนักการระบายน้ำเข้มงวดในการเปิดปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันการไหลทะลักของน้ำเค็ม และบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อพี่น้องเกษตรกรด้วย พร้อมนี้จะได้ให้เกษตรพื้นที่เข้าไปแนะนำให้ปลูกพืช ทดแทนที่ใช้น้ำน้อยและการเก็บเกี่ยวสั้น พร้อมทั้งจัดรถบรรทุกเข้าไปให้การสนับสนุนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ดีในส่วนของปศุสัตว์ยัง ไม่มีปัญหาแต่ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง กทม. จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งกทม. เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและระงับอัคคีภัยในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งในวันนี้ (15 มี.ค.48) เวลาประมาณ 13.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารจะลงพื้นที่เขตหนองจอกเพื่อสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและแผนการให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งความเรียบร้อยของสถานที่ในการจัดตั้งสถานีดับเพลิงย่อยชั่วคราว โดยภายในในเดือนมี.ค.48นี้ กทม.จะตั้งสถานีดับเพลิงย่อยเพิ่มเติม 5 แห่ง ได้แก่ สถานีดับเพลิงย่อยหนองจอก คลองสามวา ทวีวัฒนา ประเวศ และสายไหม--จบ--