กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กบข
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ รองเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางการมีแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาธนาคารนครหลวงไทยนั้น ทาง กบข.ได้ยืนยันเจตจำนงในการเข้าประมูลซื้อธนาคารนครหลวงไทย ต่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถา บันการเงินเหมือนเดิม โดย กบข.เป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตร ซึ่งเป็นสถาบันการเงินจากต่างประเทศ จำนวน ๒-๓ ราย ที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ กบข.จะมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ ๑-๒ เท่านั้น
สาเหตุที่ กบข.สนใจเข้าไปซื้อธนาคารนครหลวงไทยนั้น เนื่องจากได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของธนาคารที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยศึกษาจากธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ที่ได้ขายให้กับสถาบันการเงินต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ดี ดังนั้น การเข้าไปซื้อธนาคารนครหลวงไทยก็จะดีด้วย อีกทั้ง กบข.เป็นหน่วยงานของไทยที่น่าจะมีความเข้าใจถึงพื้นฐานการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับพันธมิตรต่างประเทศนั้น จะเข้ามาช่วยเหลือในด้านของเทคโนโลยีและเครือข่ายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มศักย ภาพในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคตได้
“สำหรับสัดส่วนของการถือหุ้นนั้น ต้องให้สัดส่วนกับสถาบันการเงินต่างชาติที่เพียงพอที่จะมีอำนาจในการบริหารเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้ามาลงทุนในระยะยาว รวมทั้งจะได้ถ่ายเทเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ส่วน กบข.นั้นคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารธนาคาร ทั้งนี้ เชื่อว่าการเข้าถือหุ้นในธนาคารนครหลวงไทยนั้นจะสามารถคืนกำไรใกั้บสมาชิกกองทุนได้ในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะเป็นการเข้าซื้อในส่วนของสินทรัพย์ดีที่มีการลดราคาลงมาแล้ว” นายสิงหะ กล่าว
ขณะนี้ กบข.กำลังรอให้ทางการเรียกเข้าไปเจรจาเงื่อนไขอยู่ ซึ่งทุกอย่างได้ดำเนินการพร้อมหมดแล้ว และมั่นใจว่าหากสามารถเข้าไปเจรจาเงื่อนไขกับทางการ กลุ่ม กบข.จะมีความน่าสนใจในสายตาของทางการและประชาชนทั่วไปได้ เพราะ กบข.เป็นหน่วยงานของไทยที่สามารถตอบคำถามประชาชนได้
ส่วนการทำความเข้าใจกับข้าราชการนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้มีการพยายามทำความเข้าใจแต่เนื่องจากสมาชิกของ กบข.มีจำนวนมากถึง ๑.๒ ล้านราย จึงยากที่จะทำความเข้าใจได้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าได้มีการศึกษาถึงโครงการอย่างละเอียด และได้มีตัวอย่างให้เห็นจากการลงทุนของต่างชาติในธนาคารไทยทั้ง ๒ แห่ง ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มที่ได้ผลตอบแทนสูงมาก อีกทั้งการลงทุนดังกล่าวของ กบข.นั้นเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งสามารถเปิดช่องให้ลงทุนประเภทดังกล่าวได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัดส่วนการลงทุนที่ถูกกำหนดตามจัดสรรตามข้อกฎหมายอยู่แล้ว--จบ--
-สส-