กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ นอกเหนือจากมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 จึงเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ : เป็นผู้ที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่เปิดให้ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 นอกเหนือจากเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งลงทะเบียนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธ.กรุงไทย) ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนที่ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วไม่ปรากฏชื่อ ให้นำเอกสารหลักฐานที่ธนาคารผู้รับลงทะเบียนให้ไว้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารที่ตนไปลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2559
2. จำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนผ่านโครงการฯ : ฐานข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้น จากกรมสรรพากรและกรมการปกครองพบว่า ผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนประมาณ 8.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกรจำนวน 2.9 ล้านคน และผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรจำนวน 5.4 ล้านคน
3. เกณฑ์การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร : ใช้เส้นความยากจน (Poverty Line)ที่คำนวณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเกณฑ์ในการอ้างอิงโดยในปี 2557อยู่ที่ระดับประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อปี โดยกำหนดอัตราเงินช่วยเหลือ ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิ์และวงเงินงบประมาณที่ใช้ ดังนี้
ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร ที่ลงทะเบียนในโครงการฯ อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ ประมาณการ
วงเงินที่ใช้
1. ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/คน 3.1 ล้านคน 9,300 ล้านบาท
30,000 บาท/ปี
2. ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาท/ปี 1,500 บาท/คน 2.3 ล้านคน 3,450 ล้านบาท
ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี
ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์และวงเงินที่ใช้ทั้งหมด 5.4 ล้านคน 12,750 ล้านบาท
4. วิธีการโอนเงิน : ให้ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน และ ธ.กรุงไทย ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่ใช่เกษตรกรที่ลงทะเบียนตามโครงการฯ ไว้กับธนาคาร โดยจำแนกเป็น 2 กรณี ดังนี้
4.1 กรณีผู้มีสิทธิ์เป็นลูกค้าของธนาคาร : ให้ธนาคารโอนเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ์โดยตรง โดยให้ ผู้มีสิทธิ์สามารถตรวจสอบเงินในบัญชีของตนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ธนาคารแจ้งการโอนเงินหากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ และหากผู้มีสิทธิ์มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี ธนาคารจะทำการโอนเงินเข้าในบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด
4.2 กรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร : ให้ผู้มีสิทธิ์ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝาก ที่สาขาธนาคารที่ไปลงทะเบียนตามโครงการฯ และสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีหลังจากเปิดบัญชีภายใน 7 วัน หากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้
นอกจากนี้ ให้ธนาคารใช้หลักเกณฑ์การโอนเงินเดียวกับข้อ 4.1 และ 4.2 เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการโอนเงินให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์ ตามมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยด้วย
5. กรอบระยะเวลาดำเนินการ : ให้ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน และ ธ.กรุงไทย โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559
6. วงเงินงบประมาณ : กรอบวงเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการจำนวน 12,750 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเห็นสมควร โดยให้ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน และ ธ.กรุงไทย สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปก่อน และชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (FDR) บวกร้อยละ 1 (ปัจจุบันอัตรา FDR เท่ากับร้อยละ 1.225 ต่อปี)
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3561