กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ตุลาคม 2559 จำนวน 1,205 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 23.9, 39.8 และ 36.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 41.7, 15.3, 14.2, 9.5 และ 19.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.5 และ 19.5 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 86.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.8 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลในช่วงสิ้นปี ทั้งจากผู้บริโภคภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้มีการออกแบบและปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี ทำให้มียอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิต การแข่งขันด้านราคา ปัญหาสภาพคล่องของ SMEs ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสภาวะเศรษฐกิจโลก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.4 ในเดือนกันยายน
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนตุลาคม 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 75.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 74.4 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 98.2 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.4 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมรองเท้า และอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 102.7 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 94.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.3 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.2 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนตุลาคม 2559 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภูมิภาค ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็งประเภทกุ้ง และปลาทะเล มีการปริมาณการผลิตและส่งออกไปจีน, ญี่ปุ่น, แคนาดา, สหรัฐฯและยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป ไก่สดแช่แข็ง มีคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิวต่างๆ มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น และมีการสั่งทำสินค้า gift set เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในเทศกาลปีใหม่ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมรองเท้า (ผลิตภัณฑ์รองเท้าหนัง รองเท้าแฟชั่น มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับรองเท้าผ้าใบ รองเท้าหนังเพื่อสุขภาพ และส่วนประกอบของรองเท้า มียอดการส่งออกไปประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และCLMV เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ คอนกรีตบล็อค มียอดการส่งออกไปอาเซียนลดลง ขณะที่ปูนซีเมนต์ชนิดผงและปูนซีเมนต์สำเร็จมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัว) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 102.4 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 76.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 74.6 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย และเส้นใยสังเคราะห์ที่นำไปทำผ้าผืน สำหรับทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าลูกไม้ เส้นด้าย 100% และเส้นไหมดิบ มีการส่งออกไปประเทศจีน CLMV และยุโรปเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (สินค้าประเภทกระดาษชำระ กระดาษหนังสือพิมพ์ มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากบริษัทและหน่วยงานภาครัฐ ผลิตภัณฑ์กระดาษสา กระดาษแข็ง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและจากประเทศญี่ปุ่น จีน และ CLMV) อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าที่ระลึกประเภทเซรามิก มียอดส่งออกไปอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ จึงส่งผลให้ปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สินค้าสุขภัณฑ์ตกแต่งบ้าน และห้องน้ำ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากโรงแรมและรีสอร์ท) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (สินค้าประเภทหลังคาสังกะสีและหลังคาเหล็กเคลือบ มียอดสั่งซื้อจากประเทศลาว กัมพูชาและพม่าลดลง สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดานมียอดขายในประเทศลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนกันยายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 78.0ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 77.7 ในเดือนกันยายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากความต้องการเสื้อผ้าสีดำและสีขาวภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกไปประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และCLMV เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลในช่วงสิ้นปี) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ HDD, MAINBORAD, กล้องวงจรปิด CCTV, TV LED มีการส่งออกไปญี่ปุ่น และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น) หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้แกะสลักของที่ระลึก มียอดคำสั่งซื้อขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น และใกล้ช่วงเทศกาล ทำให้ยอดขายของที่ระลึกและสินค้า OTOPเพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (ปริมาณการส่งออกน้ำตาลทราย ในตลาดเอเชียลดลง ขณะที่ยอดสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นฤดูปิดหีบ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 99.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.8 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผล ด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์โทลูอีนและไซลีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสี ทินเนอร์ เส้นใย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ เบนซีน และพาราไซลีน มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากอาเซียน) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าเครื่องประดับเงินมาร์คกาไซด์ พาราเดียมมียอดการส่งออกไปอินเดีย ฮ่องกง และจีน เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ประเภทพลอย ทับทิม และเพชร มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐฯ จีน เยอรมัน และอิตาลี เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพื่อเป็นของขวัญช่วงเทศกาล) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์หนังฟอกสำเร็จ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ ด้านการส่งออกสินค้าประเภทกระเป๋าหนัง และกระเป๋าเดินทางมีการส่งออกไปตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่น มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ความต้องการใช้ในกลุ่มก่อสร้างลดลง ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เหล็กทรงกลม เหล็กเส้น มีการส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย เอเชีย ลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.9 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.2 ใน เดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ มีคำสั่งซื้อในประเทศและจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในโรงพยาบาล ธุรกิจการแพทย์ และสถานเสริมความงาม) อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม้ยางพาราแปรรูปของไทยมีคุณภาพและทนทาน เป็นที่ต้องการใช้ในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของจีน) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์ม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกขยายตัวขึ้นในตลาดเอเชียใต้) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (เนื่องจากสารชีวภาพที่ใช้กำจัดศัตรูพืชมียอดขายในประเทศลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.8 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนกันยายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.2 ในเดือนกันยายนโดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมก๊าซ และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 96.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.8 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 104.5 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2559 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนตุลาคม คือ ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีการสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำสินค้าไปแสดงในต่างประเทศ เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม รวมถึงเสนอแนะให้ภาครัฐมีการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ และสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย