กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ๆที่ริเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์สามารถส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาและตัดติ่งเนื้อได้ในทันที ซึ่งเป็นการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง และจากความร่วมมือเป็น "สถาบันพันธมิตร" ระหว่างสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน จากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้โครงการบริการทางการแพทย์ชั้นสูงเพื่อผู้ด้อยโอกาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย 60 ปี โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้กับประชาชน จำนวน 284 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี
จากสถิติของสถาบันมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นโรคลำดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมดที่เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิต อีกทั้งยังพบว่าผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า แม้จะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ถ้าเริ่มป้องกันก็จะไม่เป็นภัยอย่างใกล้ตัวที่แท้จริง
ลำไส้ใหญ่ มีหน้าที่รับกากอาหารที่ย่อยจากลำไส้เล็ก เพื่อเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายของระบบการย่อยอาหาร ดูดซึมน้ำ ดูดซึมแร่ธาตุและกลูโคสที่หลงเหลือกลับเข้าสู่กระแสเลือด ผลักดันกากอาหารสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย เพื่อขับออกทางทวารหนักต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าลำไส้ใหญ่นั้น มีส่วนในการช่วยดูดซึมน้ำ วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรีย และที่ยังเหลือจากการดูดซึมที่ลำไส้เล็กกลับเข้าสู่ร่างกาย และทำหน้าที่สุดท้ายของระบบการย่อยอาหาร ซึ่งก็คือการขับถ่ายกากอาหารออกมาทางทวารหนัก และจะสังเกตได้ว่า ลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ย่อยอาหารได้น้อย แต่มีหน้าที่ที่สำคัญมากกว่าคือการดูดซึมน้ำที่เหลือมาจากลำไส้เล็กโดยนำกลับเข้าสู่ร่างกาย
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ประกอบด้วย 1. เพศชาย 2. มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งชนิดดังกล่าว ซึ่งเป็นโรคนี้ก่อนอายุ 50 ปี 3. เป็นบุคคลที่ไม่ออกกำลังกายและประสบปัญหาโรคอ้วน 4. พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักคิดว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้โดยอย่ารอให้มีอาการ เพราะผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้อที่สามารถตัดทิ้งได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้นมักไม่มีอาการ ดังนั้นการตรวจติ่งเนื้อให้พบในระยะแรก ๆ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ
จากข้อมูลของการศึกษาทั่วโลกของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหามะเร็ง ได้ข้อมูลตรงกันว่าการตรวจกรองดังกล่าวเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จำเป็นต้องเข้าตรวจคัดกรอง เนื่องจากโรคนี้จะแสดงอาการ ต่อเมื่อเป็นถึงขั้นหนักแล้ว การตรวจคัดกรองขั้นแรกที่สำคัญคือการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระโดยการใช้ชุดสุ่มตรวจจากอุจจาระ ซึ่งใช้ปริมาณอุจจาระสุ่มตรวจที่น้อยมาก แล้วส่งไปอ่านผลเลือดแฝงที่สามารถอ่านค่าได้ด้วยตาเปล่าหรือจากเครื่องอ่านโดยสามารถแปลผลได้ทันที โดยกรณีที่มีผลเลือดบวกในอุจจาระผู้ป่วยรายนั้น จะต้องได้รับการส่องกล้องเพื่อยืนยันว่ามีติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีศูนย์ส่องกล้องฯ เพื่อคัดกรองโรคโดยตรง ซึ่งในอนาคตทางโรงพยาบาลจะเพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้ โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ และนัดตรวจผ่านทางออนไลน์ ได้ด้วย
สำหรับการส่องกล้องในขั้นแรก จะใช้วิธีการชำระล้างลำไส้ ซึ่งเป็นระบบทันสมัย สามารถทานยาระบายเพื่อให้ลำไส้ใหญ่ปราศจากอุจจาระ ทำให้การส่องกล้องไม่ยาก โดยไม่มีกากอุจจาระเหลือบดบังเนื้องอกหรือติ่งเนื้อ
โดยการส่องกล้องนั้นใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง หรือ หนึ่งชั่วโมง ถ้าหากว่าไม่พบติ่งเนื้อ ก็สามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งและพอจะบอกได้ว่าจะไม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก 5 – 10 ปี ในส่วนของการพบติ่งเนื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจพบจากการคัดกรองเท่านั้น เนื่องจากว่าการเป็นติ่งเนื้อที่ลำไส้ จะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ปรากฏให้ทราบก่อนเลย ซึ่งลำไส้ใหญ่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 4 เซ็นติเมตร ตื่งเนื้อเพียง 1 เซ็นติเมตรก็สามารถเป็นมะเร็งได้นั่นเอง
การตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ คนไข้ไม่ต้องเตรียมตัวยุ่งยาก เพียงแต่แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรือสารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัด ส่วนการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังการส่องกล้อง ต้องนอนพักฟื้นจากการได้รับยานอนหลับและเฝ้าสังเกตอาการแทรกซ้อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นถึงกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะไม่แนะนำให้ผู้ป่วยขับรถด้วยตัวเอง เนื่องจากยานอนหลับจะมีผลต่อการตัดสินใจและปฏิกิริยาต่าง ๆ ของร่างกายตลอดทั้งวัน
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร แบ่งเป็น 7 ส่วน คือ 1. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) เป็นการส่องกล้องตรวจตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหารอยโรค สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยได้ และยังช่วยในการรักษาหยุดเลือดออก การตัดชิ้นเนื้องอกระยะแรก เป็นต้น 2.การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ จากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น กรณีพบสิ่งผิดปกติ จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจพยาธิวิทยา รวมทั้งสามารถตัดชิ้นเนื้องอกในระยะแรกได้เกือบหมด ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัด 3.การส่องกล้องทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde CholangioPancreatography : ERCP) เป็นการส่องตรวจและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน มีไฟส่วนปลายกล้อง ร่วมกับการถ่ายภาพรังสี ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและรักษาภาวะที่เรียกว่า ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน จากนิ่วในท่อน้ำดีหรือมะเร็ง 4. การส่องกล้องอัลตราซาวน์ (Endoscopic Ultrasonography : EUS) เป็นการส่องตรวจและรักษาท่อทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในท่อทางเดินน้ำดี โรคต่าง ๆ ที่มีก้อนหรือถุงน้ำในตับอ่อน เช่น ก้อนในตับอ่อน ถุงน้ำในตับอ่อน และตับอ่อนอักเสบ และรอยโรคใต้ชั้นผิวในระบบทางเดินอาหาร โดยการใช้กล้องคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ระบบคลื่นเสียงความถี่สูงในการดูรอยโรค ทำหัตถการตามข้อบ่งชี้หรือความผิดปกติที่พบ เช่น การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ การใส่สายระบายทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อน 5.การส่องกล้องลำไส้เล็กด้วยกล้องลูกโป่งคู่ (Double Balloon Endoscopy : DBE) เป็นการตรวจลำไส้เล็กด้วยการสอดกล้องเข้าทางปาก และ/หรือ ทางทวารหนัก เพื่อวินิจฉัยโรคของลำไส้เล็ก ในผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออก ลำไส้อักเสบ หรือเนื้องอกของลำไส้เล็ก เป็นต้น 6. การตรวจตับด้วยไฟโบรแสกน เป็นการตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรแสกนเพื่อวัดปริมาณไขมันและพังผืดในตับ และ 7. การตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดระดับกรดในหลอดอาหาร นอกจากนี้ยังมีหัตถการพิเศษอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น POEM, ESD, LASER Lithotripsy ฯลฯ เป็นต้น โดยมีการให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ รวมถึงให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหารฉับพลัน (Emergency GI bleeding) ด้วยการส่องกล้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
วิธีการตรวจคัดกรองโรคลำใส้ใหญ่แบบส่องกล้อง สามารถพบเชื้อมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ ถึง 90 เปอร์เซ็นต์และที่สำคัญมีโอกาสสูงที่คนไข้จะไม่กลับมาเป็นโรคชนิดนี้อีก
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ได้มีผลงานทางวิชาการโดยมีบทความและตำราตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ และศูนย์ฯ ได้มีการร่วมผลิตและพัฒนาอุปกรณ์กล้องส่องทางเดินอาหารและอุปกรณ์เสริมในการส่องกล้องร่วมกับบริษัทชั้นนำจากนอกประเทศและในประเทศไทย รวมทั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านโรคทางเดินอาหารโดยมีแพทย์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศมาเข้าฝึกอบรมตลอดเกือบ 20 ปี
โดยสรุปการตรวจคัดกรองโรคลำไส้ใหญ่ เป็นการตรวจที่ถือเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตเราได้ หากตรวจพบก่อนก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะฉะนั้นการเข้ารับ "การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนไทยทุกคน