นิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ ชนะเลิศประกวดขับร้องเพลงไทยของกรมศิลปากร

ข่าวทั่วไป Wednesday September 20, 2000 14:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ม.จุฬา
นายธนิต อัศวะไพฑูรย์ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงไทยประเภทอุดมศึกษาของกรมศิลปากร ใช้พรสวรรค์ ด้านการขับร้องเพลงไทยเดิม รวมทั้งใจที่ทุ่มเทเต็มร้อยในการอนุรักษ์และสืบสานดนตรี เผยการให้เยาวชน รุ่นใหม่หันมาสนใจเพลงไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อเพลิงไทยเดิมว่าไม่ได้น่าเบื่อหรือเชย
นายธนิต ได้เข้ารับประทานโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงละครแห่งชาติ โดยนายธนิต เปิดเผยว่า การประกวดขับร้องเพลงไทยครั้งนี้ จัดโดยกรมศิลปากร ร่วมกับ บริษัทอินเตอร์เรกซ์ จำกัด และมูลินิธิ เพื่อสังคมไทย การประกวดทั้งในรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศกำหนดให้ขับร้องเพลง “ถอนสมอ เถา” ซึ่งเป็นเพลงไทยเดิมที่ร้องยากและไม่ค่อยเป็นที่นิยมร้องในยุคนี้ ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้ขับร้องได้อย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน ในรอบชิงชนะเลิศ ได้พยายามควบคุมสมาธิในการร้องให้ดีที่สุด และให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของการร้องเพลงทั้งทางด้านอักขรวิธี จังหวะ ทำนอง และมารยาทในการ ขับร้อง จนในที่สุดสามารถชนะใจคณะกรรมการคว้าตำแหน่งชนะเลิศมาครอง
นายธนิต กล่าวว่า เพลงไทยในอดีตมีเสน่ห์ที่ความไพเราะลึกซึ้งของคำร้องและทำนอง ที่เปี่ยมด้วยสุนทรียะ การทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจเพลงไทยเหล่านี้ต้องอาศัยกลวิธี การนำเสนอที่น่าสนใจ พยายามหารูปแบบในการถ่ายทอดความงดงามของบทเพลงให้จับใจผู้ฟังและเปลี่ยน ทัศนคติที่มีต่อเพลงไทยเดิมเสียใหม่ว่าไม่ได้น่าเบื่อหรือเชยแต่อย่างใด
นายธนิต เป็นชาวสุพรรณบุรี ซึ่งมีพื้นฐานครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาเป็นผู้ที่ รักดนตรีไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ ยังเป็นหนอนหนังสือและชอบอ่านทำนองเสนาะเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเรียนชั้นมัธยมเริ่มร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรี เริ่มจากจะเข้และเครื่องสายต่าง ๆ สำหรับ ประกวดครั้งแรกเป็นการแข่งขันอ่านทำนองเสนาะของกรมศิลปากร ซึ่งสามารถคว้าตำแหน่งที่ ๓ เมื่อได้เข้ามาเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในโครงการรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษระดับชาติในทางศิลปะ ก็ยิ่งหลงใหลในศิลปะดนตรีไทย โดยได้เข้าร่วมแสดงดนตรีในครุศาสตร์คอนเสิร์ตเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังใช้เวลาว่างจากการเรียนไปสืบค้นข้อมูลด้านดนตรีไทยในอดีตจากหนังสือเก่า แผ่นเสียงและเทปเสียง ที่ทรงคุณค่าในยุคก่อน เพื่อเก็บตกข้อมูลบางอย่างที่หายไปกับกาลเวลา โดยตั้งใจว่า จะรวบรวมข้อมูลดนตรีไทยทั้งหลายจัดทำเป็นห้องสมุดดนตรี--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ