กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--35 Bangkok
คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ทุกวันนี้แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่หรือรัฐบาลหลายแห่งของโลกก็ยังมีความลับ "รั่วไหล" ให้เห็นกันบ่อยครั้ง แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ความลับนั้นจะ "ลับจริงๆ" และปลอดภัยจากคนที่อาจจะมีสุดยอดเทคโนโลยีและกำลังเฝ้าจะไขรหัสลับนั้นอยู่
ผศ. ดร. สุวิทย์ กิระวิทยา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย "การสื่อสารปลอดภัยสูงสุดด้วยรหัสลับควอนตัม: การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า "การสื่อสารเชิงควอนตัม เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยตัวเทคโนโลยีจะรับประกันความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากผู้ใช้สามารถรับรู้ได้ทันทีว่ามีการดักฟังหรือไม่ โดยวัดจากระดับความผิดพลาดจากการส่งข้อมลผ่านช่องทางควอนตัม ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารทั่วไปในปัจจุบันที่ใช้คลื่นวิทยุ เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต หรือการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณในอากาศ หากมีเสาอากาศรับหรือมีเครื่องถอดรหัส ข้อมูลดังกล่าวก็จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป แต่ยังโชคดีที่การทำงานในระบบดังกล่าวจะมีการเข้ารหัสอัตโนมัติ และปัจจุบันยังไม่มีเครื่องถอดรหัส ข้อมูลจึงยังคงมีความปลอดภัยอยู่"
แต่สำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารเชิงควอมตัมนั้น ยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัยจากการถูกถอดรหัสได้โดย 'ควอนตัมคอมพิวเตอร์' ซึ่งก็คือ 'คอมพิวเตอร์ในอนาคต' ที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง และเป็นที่คาดการณ์ว่าระบบความปลอดภัยเชิงคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน จะถูกควอนตัมคอมพิวเตอร์แฮกได้ภายในไม่กี่นาที เนื่องด้วยแนวทางการประมวลผลแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และความน่าอัศจรรย์ด้วยคุณสมบัติของควอนตัมที่สามารถนำข้อมูลมาซ้อนทับกันได้ ฯลฯ ยกตัวอย่าง สมมุติว่าบัญชีธนาคารของคุณ มีการรักษาความปลอดภัยดีมาก โดยถ้าใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปในการแฮก ต้องใช้เวลาถึง 1 พันปี แต่หากเรามีเครื่องคำนวณที่เร็วขึ้น 100 ล้านเท่า ก็หมายความว่า ระบบรักษาความปลอดภัยเดียวกันนี้ จะถูกแฮกได้ภายใน 5 นาที เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรตระหนักถึงความสำคัญ และเร่งพัฒนาเพื่อหาแนวทางป้องกันและวิธีการรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผศ. ดร. สุวิทย์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงความตื่นตัวของทั่วโลกว่า เมื่อปีพ.ศ. 2557 ประเทศอังกฤษได้ประกาศทุ่มทุนวิจัย "การเข้ารหัสลับเชิงควอนตัม" ในระยะเวลา 5 ปี เป็นเงินถึง 270 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท และประเทศจีนได้ประสบผลสำเร็จจากการส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารเชิงควอนตัม หรือมีชื่อย่อว่า "ควอนตัมอินเตอร์เน็ต" เป็นรายแรกของโลกและกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไปแล้ว นอกจากนี้ บริษัท กูเกิ้ล ยังได้ออกตัวประกาศสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2556 และเมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา บริษัท Intel ยังได้ประกาศจับมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดวท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อลุยสร้างควอมตัมคอมพิวเตอร์ ด้วยเงินลงทุนถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.25 พันล้านบาท และยังมีอีกหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรีย เยอรมนี ที่สนับสนุนเงินลงทุนในการวิจัยด้านควอนตัมเป็นจำนวนเงินมหาศาล
ด้วยประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งนักวิทยาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มวิจัย ในสถาบันวิจัยในประเทศเยอรมนี ผศ. ดร. สุวิทย์ เล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากจบปริญญาเอกก็ได้ทุนไปศึกษาวิจัยที่ประเทศเยอรมนี และได้ทำงานต่อที่เยอรมนี รวม 8 ปี จากนั้นได้กลับมาทำงานวิจัยต่อที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการปรับปรุงระบบของเครื่องปลูกผลึกด้วยลำโมเลกุล ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทำวิจัยต่อยอดอีกหลายโครงการ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามนำเสนอถึงคุณประโยชน์มหาศาลจากเทคโนโลยีเชิงควอนตัมก็ตาม เนื่องด้วยนักวิจัยในประเทศไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักศาสตร์ในเชิงควอนตัม เพราะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ถึง 3 แขนง นั่นคือ ทั้งด้านฟิสิกส์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จึงจะสามารถวิจัยพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาสารสนเทศเชิงควอนตัมนี้ได้ บวกกับอีก 4 ปัจจัยสำคัญที่ไม่เอื้ออำนวย ได้แก่ 1) บุคลากร 2) งบประมาณ 3) วิทยาการ และ 4) นโยบายสนับสนุน
ดังนั้นโครงการ "การสื่อสารปลอดภัยสูงสุดด้วยรหัสลับควอนตัม: การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร" จึงมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อสร้างรากฐานให้แข็งแกร่งไว้ก่อน ซึ่งได้ดำเนินการให้ความรู้แก่อาจารย์นักวิจัยตามสถานศึกษา หน่วยงานของรัฐไปบางส่วนแล้ว นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีทางแสงขั้นสูง ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร เพื่อหวังว่าจะได้พัฒนาต่อยอดให้กับนักศึกษาหรือทีมนักวิจัยในเชิงค้นคว้าวิจัยและพัฒนาสู่การใช้งานจริงต่อไป โดยในส่วนดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นนิมิตหมายของการเริ่มต้นที่ดี ที่กองทุน กทปส. ได้เห็นคุณค่าและให้เงินทุนสนับสนุนโครงการฯ ครั้งนี้
ผศ. ดร. สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ทีมนักวิจัยโครงการฯ ยังต้องการต่อยอดในอีกหลายๆ ด้าน และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในแง่นโยบาย และความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องผลักดันประเทศเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล ได้ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมเพื่อสร้างบุคลากรนักวิจัยคนไทยในด้านวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัมเพื่อรองรับงานวิจัยทางด้านการสื่อสารเชิงควอนตัมในอนาคต ร่วมจัดทำโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัม โดยมีศูนย์ทำหน้าที่เป็นศูนย์ทดสอบและฝึกงานสำหรับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายวิจัยวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัมระหว่างสถาบันวิจัยกับของต่างประเทศ เนื่องจากหากประเทศไม่เร่งสร้างนักวิจัยคนไทยด้วยกันแล้ว ในอนาคตก็คงต้องทุ่มซื้อเทคโนโลยีป้องกันการโดนแฮกข้อมูลด้วยเม็ดเงินมหาศาลอย่างไม่มีวันจบอย่างแน่นอน"
โครงการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ทาง กทปส.ได้ให้การสนับสนุนเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสาขาโทรคมนาคม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่งตอบโจทย์ตรงตามวัตถุประสงค์ของ กทปส.
โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของโครงการได้ที่เว็บไซต์ของ กทปส. https://btfp.nbtc.go.th และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://www.quantum-thai.org/, http://www.qinfo.nu.ac.th/ และ https://www.facebook.com/QuantumCryptoThailand