ปตท. เตรียมลงทุนกลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มอีก ๓ โครงการ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 6, 2000 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ปตท.
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เตรียมที่จะขยายการลงทุนในกลุ่ม ปิโตรเคมีในอีก ๔ ปีข้างหน้าประมาณ ๓ โครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ ๗๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นเงินในส่วนของ ปตท.ประมาณ ๕๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ปตท.ยังหวังรายได้จากบริษัทด้าน ปิโตรเคมีที่เข้าไปร่วมทุนได้ไม่มากนัก เพราะหลายบริษัทยังมีปัญหาขาดทุน แต่ก็เตรียมผลักดันธุรกิจปิโตรเคมีเป็นธุรกิจหลักของ ปตท.
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่มปิโตรเคมีมีแผน ที่จะลงทุนเพิ่มใน ๓ โครงการ ภายใน ๔ ปีข้างหน้า โดยมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ ๗๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นเงินลงทุนในส่วนของ ปตท.ประมาณ ๕๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมาจากเงินกู้บางส่วน และรายได้ บางส่วน โดย ๓ โครงการประกอบด้วยโครงการผลิตอะคริไรไนไตรต (แคน) โพรพิลีน และฟินอล
ทั้งนี้ โครงการแคน จะเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. ร้อยละ ๔๐ และอาซาฮี ร้อยละ ๖๐ โดยมีกำลังผลิตประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ในราวปลายปี ๒๕๔๖ หรือต้นปี ๒๕๔๗ ขณะนี้ ปตท. ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้แล้ว ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ๒๕๔๔
ส่วนโครงการโพรพิลิน จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตแคน และแคนจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า พลาสติก มือถือ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตแคนในประเทศไทย โดยโครงการผลิต โพรพิลินจะมีขนาดการผลิต ๓๕๐,๐๐๐ ตันต่อปี โดย ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงที่ ๕ จังหวัดระยองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแยกก๊าซโพรเพน มาผลิตเป็นโพรพิลีน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ปี ๒๕๔๗ สำหรับโครงการผลิตฟินอล จะผลิต ๔๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ ๒๐๐—๒๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะเป็นโครงการร่วมทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาในหลักการ
นายปิติ กล่าวว่า รายได้กลุ่มปิโตรเคมีของ ปตท.ในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ระดับ ๕๐๐—๖๐๐ ล้านบาท จากสัดส่วนที่ ปตท.ถืออยู่ในบริษัทลูกต่าง ๆ ทั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพีซี บริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด(ทีโอซี) บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือเอทีซี และบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) หรือเอ็นเอฟซี โดยเอ็นพีซีคาดว่าในปีนี้จะมีกำไร ส่วนทีโอซีจะมีกำไรสุทธิประมาณ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่เอทีซี คาดว่าจะยังขาดทุนอยู่ ส่วนเอ็นเอฟซีจะยังคงขาดทุนประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปตท.จะผลักดันธุรกิจปิโตรเคมีให้เป็นหน่วยธุรกิจหลักของ ปตท.ด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์กับประเทศ และ ปตท.ก็มีจุดแข็งในเรื่องของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของปิโตรเคมี
นายปิติ กล่าวด้วยว่า นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่าในอนาคตกลุ่มปิโตรเคมีในประเทศไทย ควรจะเหลือเพียง ๑-๒ กลุ่ม จาก ๔ กลุ่มในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มปิโตรเคมีของไทยมีขนาดใหญ่เพียงพอ ที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยกลุ่มปิโตรเคมีทั้ง ๔ กลุ่ม ประกอบด้วย ปตท. เครือซีเมนต์ไทย กลุ่มธนาคารกรุงเทพ และกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ) ซึ่งขณะนี้ยังมีความพยายาม ที่จะควบรวมกิจการกันระหว่างเอ็นพีซี และบริษัทบางกอกโพลิเอททิลีน จำกัด (บีพีอี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพ โดยเอ็นพีซี เจรจาที่จะซื้อบีพีอี ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลิเอทิลีน (พีอี) ซึ่งเป็นปิโตรเคมีขั้นปลาย ต่อจากเอทิลีนที่เอ็นพีซีผลิตอยู่--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ