กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ปลัดกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมส่งเสริมนายจ้าง ลูกจ้าง นำโมเดลแรงงานสัมพันธ์ ๔.๐ ไปปรับใช้สร้างแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนจริยธรรม ลดความขัดแย้ง พร้อมเสริมบรรยากาศที่ดีในการลงทุนให้ประเทศ
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช และตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการตามโครงการ"นายจ้าง ลูกจ้าง ร่วมสานดวงใจเป็นหนึ่ง" ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น.ณ ห้องประชุมบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า กิจกรรมในวันนี้นอกจากจะเป็นการพบปะผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ของสถานประกอบกิจการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมกันแสดงความจงรักภักดีด้วยการผสานความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้กำหนดยุทธศาตร์ด้านแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศไทยภายใต้กรอบนโยบาย"ไทยแลนด์ ๔.๐" ของรัฐบาล ซึ่งมีฐานคิดหลักคือเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้านวัตกรรม
เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาประเทศภายใต้นโยบาย "ไทยแลนด์ ๔.๐" จะสำเร็จได้ด้วยการประสานพลังประชารัฐ กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำโมเดล "แรงงานสัมพันธ์ ๔.๐" เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ในสถานประกอบกิจการนำไปปรับใช้เพื่อลดข้อขัดแย้งในการบริหาร และร่วมกันเป็นพลังประชารัฐในการพัฒนาเศษฐกิจของประเทศ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่าโมเดล "แรงงานสัมพันธ์ ๔.๐" เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องความสามัคคี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กำหนดเป็นรูปแบบการบริหารงานแรงงานสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนจริยธรรมซึ่งทั้งนายจ้าง และลูกจ้างจะร่วมกันในการออกแบบสภาพการจ้าง การทำงาน สวัสดิการแรงงาน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ จริยธรรม และความปราถนาดีที่มีระหว่างกัน ที่มีต่อองค์กร สังคม และประเทศชาติ ซึ่งหากปฏิบัติได้แล้วนอกจากจะเกิดประสิทธิผลในการบริหารงานและความก้าวหน้าขององค์กรแล้ว ยังจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติสุขในวงการแรงงาน สร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย ทั้งนี้กสร.จะได้ส่งเสริมโมเดล "แรงงานสัมพันธ์ ๔.๐" ให้นายจ้าง ลูกจ้างนำไปใช้ในการบริหารงานด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อไป