กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--สำนักข่าวนครโพสต์
"เกษตรลุ่มน้ำ" สืบสานพระราชปณิธานพลังงานทดแทนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เดินหน้าโครงการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่แรกของภาคใต้ ขยายผลโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ที่นำน้ำเสียจากโรงงานหีบปาล์มน้ำมัน กากปาล์มน้ำมัน มูลวัว และหญ้าเนเปียร์ มาผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง
ดร.กณพ เกตุชาติ กรรมการผู้จัดการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ได้รับการสนับสนุนโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อใช้กับยานยนต์ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์ ในพื้นที่ที่อยู่ไกลจากแนวท่อก๊าซ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และในส่วนของเทคโนโลยี เราได้ทำบันทึกความร่วมมือกับ บริษัท โอซาก้าแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบก๊าซชีวภาพจากประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้โครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาแล้วกว่า 30% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดเดินเครื่องผลิตก๊าซ CBG ได้ในเดือนมีนาคม 2560
"โครงการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทฯ ที่ก่อนหน้านี้ได้สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขนาด 1 เมกกะวัตต์ ใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และเริ่มเดินเครื่องขายไฟเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ต้นปี 2557 โดยโครงการผลิตไบโอมีเทนอัด เป็นการขยายผลจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ที่นำน้ำเสียจากโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน กากปาล์มน้ำมัน มูลวัว และหญ้าเนเปียร์ เป็นวัตถุดิบ"
กรรมการผู้จัดการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กล่าวอีกว่า แรงบันดาลใจในสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนนั้น เพราะบริษัทฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทย จึงมีการถวายการยกย่องพระองค์ให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย" ด้วยพระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนนำมาสู่ความสำเร็จ เพื่อให้พสกนิกรได้มีพลังงานทางเลือกไว้ใช้อย่างไม่ขาดในอนาคต นอกจากนั้น ชื่อของบริษัท "เกษตรลุ่มน้ำ" ยังได้ตั้งตามมงคลนามของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกด้วย
ด้านนายสมนึก เกตุชาติ ประธานกรรมการบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด เล่าว่า เมื่อประมาณปี 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาการทำน้ำมันไบโอดีเซล
"เทศบาลนครนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ก็ได้มีการศึกษาและผลิตไบโอดีเซลตามแนวทางของพระองค์ท่าน และมีการนำไบโอดีเซลที่ผลิตได้มาใช้ในเครื่องจักรของเทศบาลฯ ด้วย"
"คณะผู้บริหารของบริษัทเกษตรลุ่มน้ำฯ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานด้านพลังงานทดแทนของพระองค์ท่าน น้อมนำมาสู่การปฏิบัติและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดพลังงานทดแทน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไทยอย่างยั่งยืนต่อไป" ดร.กณพ กล่าว