กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กสทช.
ในปัจจุบัน การสื่อสารไร้สายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสังคมยุคใหม่ การสื่อสารผ่านเสียงเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องพ้นสมัย การสื่อสารผ่านข้อความ ผ่านรูปภาพ และผ่านวิดีโอ เป็นเรื่องปกติในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ปริมาณการรับส่งข้อมูลออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และอนาคตในยุค IoT (Internet of Things) อุปกรณ์ต่างๆ นับชิ้นไม่ถ้วนก็จะทำงานเชื่อมโยงผ่านการสื่อสารไร้สายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พกพาประจำตัวของแต่ละคน ยานพาหนะตั้งแต่รถยนต์จนถึงรถจักรยาน หรือแม้แต่ระบบตรวจวัดต่างๆ เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพประจำตัว ระบบสัญญาณไฟจราจร ระบบตรวจวัดมลพิษในสิ่งแวดล้อม ระบบสมาร์ทมิเตอร์ สมาร์ทโฮม รวมถึงกล้องวงจรปิดทั่วเมือง เป็นต้น เราจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขณะนี้อุตสาหกรรมการสื่อสารกำลังมุ่งมั่นพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 5G
ในเวที ITU Telecom World 2016 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ องค์กรทางธุรกิจต่างๆ ได้สรุปถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการจริงในท้องตลาดได้ในปี 2020
การออกแบบ 5G จะตอบสนองการใช้งานซึ่งแตกต่างจากยุคก่อน โดยสามารถรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันใน 3 ลักษณะ 1) Mobile Broadband ไม่ต่ำกว่า 100 Mbps เช่น การชมวิดีโอคุณภาพสูง การถ่ายทอดรายการต่างๆ 2) การใช้งานที่ต้องตอบสนองการสั่งการในทันที (Critical Machine Communications) ควรมี Latency Time น้อยกว่า 1 มิลลิวินาที อย่างเช่น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมหุ่นยนต์กู้ภัยหรือผจญเพลิง และ 3) การเชื่อมต่อจำนวนมากสำหรับ IoT (Massive Machine Communications ซึ่งในอนาคตอาจมีมากถึง 1 ล้านชิ้นใน 1 ตารางกิโลเมตร) ไม่ต้องการความเร็วที่สูงมาก แต่ต้องใช้พลังงานน้อย เพื่ออายุแบตเตอรีที่นาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย
ในการประชุม World Radiocommunication Conference 2015 (WRC-15) มีข้อตกลงให้ใช้คลื่นย่าน 700 MHz, ย่าน L-Band (1427 – 1518 MHz) และย่าน C-Band (3.4 – 3.6 GHz) สำหรับกิจการ Mobile Broadband ส่วนคลื่นความถี่สูงกว่า 6 GHz จะมีการพิจารณาในการประชุม WRC-19 ต่อไป อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการสื่อสารได้มีการทดสอบและพัฒนา 5G บนย่านความถี่ 3 ระดับ ได้แก่ 1) Low Band (ต่ำกว่า 1 GHz) เพื่อความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 2) Mid Band คือย่านความถี่ 1-6 GHz เพื่อความเร็วในการรับส่งข้อมูลไม่ต่ำว่า 100 Mbps โดยผู้ให้บริการแต่ละรายต้องการความถี่กว้างถึง 100 MHz (ในการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz 1800 MHz และ 900 MHz ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการที่ชนะการประมูลได้รับคลื่นความถี่เพียงรายละไม่เกิน 15 MHz เท่านั้น) 3) High Band (ย่านความถี่ที่สูงกว่า 6 GHz) เพื่อความเร็วสูงถึง 20 Gbps
ในปัจจุบันมีการทดสอบและพัฒนา 5G บนย่าน C-Band ในหลายประเทศ และย่าน 20-70 GHz ในบางประเทศ ซึ่งย่านความถี่ที่สูงมากนี้จะมีความยาวคลื่นความถี่สั้นมากจนเรียกว่าย่าน Millimeter Wave โดยการให้บริการจะมีรัศมีจำกัดมาก (ให้นึกถึงรัศมีของ Wi-Fi ในปัจจุบันซึ่งใช้คลื่น 5.3 GHz เปรียบเทียบ) ดังนั้น เพื่อให้การใช้งานครอบคลุมความต้องการทุกลักษณะ 5G จึงจำเป็นต้องใช้ย่านความถี่ต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ Qualcomm ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสาร ได้ประกาศเปิดตัวโมเด็ม 5G ตัวแรกคือ Snapdragon X50 ซึ่งจะใช้งานบนคลื่นความถี่ 28 GHz เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ความเร็วที่สูงไม่ต่างจากบริการ FTTH ที่ต่อตรงถึงแต่ละบ้านในปัจจุบัน ในลักษณะบริการFixed Wireless Broadband โดยคาดว่าจะวางจำหน่ายในปี 2018
ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยสำคัญในการชี้ชะตา 5G ก็คือคลื่นความถี่ ซึ่งในระดับนานาชาติ ต้องมีการตกลงมาตรฐานการใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้งานได้ในทุกประเทศ และจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องมี Spectrum Roadmap เพื่อรองรับการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นระบบ ย่านความถี่ที่อาจเห็นการจัดสรรสำหรับ 5G ก่อนคือย่าน 3.5 GHz เนื่องจากในแต่ละประเทศยังเป็นคลื่นที่ไม่ได้ใช้งาน ส่วนย่าน 700 MHz ในหลายประเทศยังต้องรอการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัล จึงจะมีคลื่นความถี่มาให้บริการ 5G
อุตสาหกรรมการสื่อสารยังคาดการณ์ด้วยว่า อาจต้องพิจารณาถึงการ Refarming คลื่นความถี่ 2G หรือ 3G เพื่อมาให้บริการ 5G
นอกจากคลื่นความถี่แล้ว หากการใช้บริการ 5G มีมาก อาจต้องการการเชื่อมต่อผ่านสายใยแก้วนำแสงไปยังสถานีฐานต่างๆ (Fiber to the Antenna) ด้วย เพราะในอนาคตแต่ละสถานีฐานอาจต้องรองรับปริมาณการใช้งานพร้อมกันของผู้บริโภคสูงสุดกว่า 10 Gbps ต่อสถานีฐาน การเพิ่มอุปกรณ์ E1 หรือเพิ่ม Microwave Link ในแต่ละโครงข่าย อาจไม่สามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้
เมื่อกลับมาพิจารณาประเทศเรา คงเลยเวลาที่จะเพิกเฉยต่อการประมาณความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ของประเทศอย่างจริงจัง และเร่งจัดทำ Spectrum Roadmap เพื่อความพร้อมในการก้าวสู่สังคมดิจิทัล และควรมีการวางแผนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารแต่ละยุคอย่างเป็นระบบ ไม่ปล่อยให้เกิดสภาพความตึงเครียดดังเช่นกรณีสิ้นสุดสัมปทาน 2G อย่างที่ผ่านมา ที่ผู้บริโภคหลายล้านคนต้องเปลี่ยนเครื่องโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า Mobile Broadband นั้นเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนผ่านจะเป็นลำดับขั้น คือยุติบริการ 2G ก่อน 3G แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศคาดว่า เมื่อมีบริการ 5G บริการ 3G จะยุติก่อน 2G เพราะโครงข่ายดั้งเดิมมีการลงทุน 2G มากกว่า และมีการใช้งานกว้างขวางกว่า3G การยุติบริการ 3G จึงมีผลกระทบต่อประเทศและต่อผู้บริโภคน้อยกว่า
คำถามที่สำคัญสำหรับประเทศไทยมิใช่บริการอะไรจะยุติก่อนกัน เพราะเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะยุติ 2G แล้ว แต่คำถามที่สำคัญคือมีการคิดวางแผนและเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าหรือไม่
นอกจากนี้แล้ว หากเราก้าวสู่ยุค IoT สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดคือ การรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล หรือความปลอดภัยไซเบอร์ เพราะหากระบบต่างๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบธุรกรรมทางการเงิน หรือระบบยานยนต์อัตโนมัติ ถูกแฮ็กหรือถูกโจมตีแล้ว ก็อาจเกิดภาวะวิกฤตในสังคมได้
สำหรับผู้บริโภคแล้ว แม้จะมีบริการ 5G เกิดขึ้น เราก็คงเห็นบริการ 3G และ 4G คู่ขนานไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อถึงวันที่เทคโนโลยีมาถึง จึงควรถามตัวเองว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่หรือไม่ เพราะหากความต้องการใช้งานอยู่เพียงระดับ 3G การย้ายไปสู่เทคโนโลยีใหม่ก็จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มด้วยการซื้ออุปกรณ์ใหม่ด้วย แต่สำหรับธุรกิจต่างๆ แล้ว 5G คือโครงสร้างใหม่ของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง ธุรกิจต่างๆ ตลอดจน IoT สามารถเติบโตได้อีกมากบนเทคโนโลยี 5G บริการโครงข่ายรูปแบบใหม่ซึ่งสามารถให้บริการเฉพาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยี Software Defined Network และ Network Function Virtualization บนบริการ 5G จะทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโทรคมนาคมได้ดียิ่งขึ้น (Network as a Service)
นี่คือสาระสำคัญเกี่ยวกับ 5G จากงาน ITU Telecom World 2016