การสรรหากรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2005 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--ศาลปกครอง
โดยที่ประธานวุฒิสภา มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สว ๐๐๐๘/๖๔๐๑ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ถึงประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงการที่จะต้องมีการสรรหากรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๓๘ ของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งจำนวนสิบคน ทำหน้าที่พิจารณาสรรหาผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓๗ ที่สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งเสนอต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาฯ ด้วย แต่โดยที่เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศร ๐๐๐๒/๑๑๑๕ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ถึงเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องรอตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่จะได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจึงจะสามารถเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญและเมื่อมี
พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อ
พระมหากษัตริย์แล้ว จึงจะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งได้ ด้วยเหตุดังกล่าวประธานวุฒิสภาจึงขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเรื่องการเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองขอชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ในเรื่องการพิจารณาเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีหนังสือตอบชี้แจงทั้งประธานวุฒิสภา
ตามหนังสือศาลปกครอง ที่ ศป ๐๐๒๓/๑๘๙๔ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธาน
ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามหนังสือสำนักงานศาลปกครอง ที่ ศป ๐๐๐๑/๔๑๑๔ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยมีสาระสำคัญว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดได้มีการประชุมทันทีที่ได้รับแจ้งจากวุฒิสภาเพื่อดำเนินการเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๑ วรรคสอง (๒) ของรัฐธรรมนูญฯ แต่ปรากฏว่า ไม่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดผู้ใดประสงค์จะเข้ารับการเลือก ซึ่งตามบทบัญญัติ
ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๕๘ วรรคสอง การเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปโดยความยินยอมของบุคคลนั้นและในหนังสือที่มีถึงประธานวุฒิสภาและผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานฯ ดังกล่าว ได้ชี้แจงให้ทราบด้วยว่าในขณะที่มีหนังสือตอบชี้แจงประธานวุฒิสภาครั้งแรกนั้นกำลังมีการดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งใหม่ ซึ่งเมื่อได้ตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้ว ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดจะดำเนินการเลือกตุลาการ
ศาลปกครองสูงสุดที่ได้รับแต่งตั้งใหม่คนหนึ่งไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยความยินยอมของบุคคลนั้นในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ ซึ่งคำชี้แจงตามหนังสือทั้งสองฉบับมีความชัดเจนทั้งเหตุผล
ทางกฎหมายและแนวทางที่ศาลปกครองจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ขณะนี้ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ได้คัดเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ๔ คน และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ)
การคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพื่อไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกรณีที่ศาลปกครองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง มิใช่เป็นเรื่องที่ประธานศาลปกครองสูงสุดหรือผู้หนึ่งผู้ใดจะเรียกร้องให้กระทำเป็นประการอื่นได้ ศาลปกครองสูงสุดไม่อยู่ในฐานะที่จะกระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๕๘ วรรคสอง ที่กำหนดให้การเลือกผู้ไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของที่ประชุมใหญ่
ศาลปกครองสูงสุดจะต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจดำเนินการเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ได้ เพราะไม่มีตุลาการ
ศาลปกครองสูงสุดผู้ใดให้ความยินยอมที่จะได้รับเลือกเช่นนั้น
ในเรื่องเดียวกันนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นมาแต่แรก (ไม่ว่าในที่สุดจะได้มีการดำเนินการ
จนถึงกับต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งที่แล้ว) ว่า ในการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖๑ วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๕๕ วรรคสอง มาใช้บังคับ แต่การที่ยังไม่มีผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดแทนนายกระมล ทองธรรมชาติ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งย่อมไม่เป็นเหตุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ ๑๔ คน ไม่สามารถประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๕๕ วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖๐ วรรคสอง ได้บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งการประชุมและเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การใช้และตีความกฎหมายที่ยึดความเข้าใจจากตัวหนังสือแต่เพียงประการเดียวโดยเคร่งครัด โดยมิได้พิจารณาเจตนารมณ์ที่แท้จริงและบทบัญญัติที่นำไปสู่แนวทางที่สามารถปฏิบัติได้โดยชอบ น่าจะทำให้การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือของประธานศาลรัฐธรรมนูญเกิดปัญหาและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่การพิจารณาและมีคำวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากไม่น้อยกว่าการทำหน้าที่ของผู้ที่เป็นประมุขหรือตัวแทนของศาลรัฐธรรมนูญในการเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง มาตรา ๒๖๐ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ก็ยังบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ เป็นแต่เพียงว่าต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๒๖๗ ที่กำหนดว่าองค์คณะในการพิจารณาคดีดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่า ๙ คน คำว่าภายใต้บังคับมาตรา ๒๖๗ มิได้หมายความว่า
ในกรณีที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลืออยู่ไม่ครบให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะการพิจารณาคดีเท่านั้น ในประการสุดท้าย ถึงแม้ว่าจะยังคงเห็นว่าจำเป็นจะต้องรอตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกคนหนึ่งจึงจะเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๓๘ ในเรื่องการสรรหากรรมการการเลือกตั้งยังไม่ปรากฏว่า มีกรณีที่จะก่อให้เกิดทางตัน ทำให้ไม่อาจมีการคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้งให้สำเร็จได้ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
กลุ่มงานสื่อมวลชนสัมพันธ์ กองการประชาสัมพันธ์
๑๙๕ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ชั้นที่ ๓๑ ถ.สาทรใต้ เขตสาทร กทม. ๑๐๑๒๐
โทร. ๐ ๒๖๗๐ ๑๒๐๐-๖๓ ต่อ ๑๐๐๒, ๑๐๐๔ โทรสาร ๐-๒๒๘๖-๐๒๐๒
๑๙๕ Empire Tower ๓๑rd Floor Sathon Tai, Bangkok ๑๐๑๒๐
Tel. ๐ ๒๖๗๐ ๑๒๐๐-๖๓ Ext. ๑๐๐๒, ๑๐๐๔ Fax ๐-๒๒๘๖-๐๒๐๒--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ