กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--Francomasia
สี่พันธมิตรผนึกกำลัง มุ่งยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเพิ่มพูนทักษะแรงงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) พร้อมขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0
สี่พันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง "ศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรม" เดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยศูนย์ดังกล่าวจะดำเนินการที่อาคารอีซี่ พลาซ่า 1 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จัดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) (ESIE) โดยผู้แทน และผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ดังต่อไปนี้
§ นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
§ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน)
§ รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าธนบุรี
§ นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน
โครงการความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน บริษัทเอกชนและสถาบันต่างๆ ในการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมได้อย่างแข็งแกร่ง โดยทำหน้าที่จัดเตรียมหลักสูตรวิชาชีพและฝึกอบรมภาคปฏิบัติเพื่อผลิตแรงงานให้เพียงพอต่อความต้องการเฉพาะด้านที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ อันจะนำไปสู่การเดินหน้าพัฒนายุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และแนวคิด"อุตสาหกรรม 4.0" อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประเทศไทย 4.0
"ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มุ่งส่งเสริมให้ลูกค้าผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราชฯ ได้มีส่วนร่วมในโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในบริษัท ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของเหมราช" นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว "โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การผลิตแรงงานที่มีทักษะตามหลักสูตรในโครงการนี้ให้ได้จำนวน 100,000 คนภายในระยะเวลาหนึ่งปี"
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า "โครงการนี้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ก่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งเราได้มีการวางแผนพัฒนาระดับความสามารถและการประกอบอาชีพ ตลอดจนจัดการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน"
ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าธนบุรี เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM - Science, Technology, Engineering and Mathematic) "ความร่วมมือในครั้งนี้จะเน้นการให้ความรู้เชิงลึกผ่านการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงานจริงในทุกระดับ เรามุ่งมั่นสนับสนุนการผลิตแรงงานที่มีทักษะในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดให้มีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น"
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า "เราได้ร่วมมือกันเพื่อดำเนินโครงการและจัดทำหลักสูตรที่จะช่วยยกระดับฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานเทียบชั้นระดับโลก โดยมีคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบและรักษาโอกาสการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค"
"ภายหลังจากรัฐบาลได้ริเริ่มนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ดับบลิวเอชเอได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่มาโดยตลอด ในวันนี้ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวกับทั้งสามพันธมิตร โดยมีบทบาทช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี" นางสาวจรีพร กล่าวเสริม
"ศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติสืบไป" นางสาวจรีพร จารุกรสกุล กล่าวสรุป